กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คว้า 8 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในเวทีงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2559 (Thailand Inventors' Day 2016)งานมอบรางวัลและจัดแสดงผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในหลากหลายสาขาจากนักวิจัยทั่วประเทศซึ่งตอกย้ำความสำเร็จและศักยภาพอันแข็งแกร่งของคณะนักวิจัยธรรมศาสตร์ระดับประเทศในประเภทผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ และผลงานประดิษฐ์คิดค้นอาทิ "เครื่องตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองแบบทันเวลาด้วยสัญญาณ TCD" ผลงานวิทยานิพนธ์ "การย้ายถิ่นฐานผ่านการสมรส" ผลงานวิจัย "การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย" ฯลฯ ทั้งนี้ กิจกรรมการดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมการประกวดงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใน "งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2559" (Thailand Inventors' Day 2016) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งในปีนี้คณะวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลได้ถึง 8 รางวัล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รางวัลงานวิจัย ประจำปี 2558
ระดับดีมาก
ปุนเถ้ากง: เทพ "เจ้าที่" จีนในสังคมไทยผลงานการศึกษาวิจัยของรศ.ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งได้ทำการลงพื้นที่เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้า "ปุนเถ้ากง" ในสังคมไทย จำนวนทั้งสิ้น จำนวน 426 ศาล ใน 67 จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ชื่อเรียก รูปลักษณ์ เรื่องเล่าและฐานะของเทพเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากเทพเจ้าปุนเถ้ากงมีความสำคัญยิ่งกับวิถีชีวิตของชาวในสังคมไทย และที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวมาก่อนอีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ หลังสิ้นสุดสงครามเย็นผลงานการวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล จากวิทยาลัยสหวิทยาการ ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และบทบาทของจีนในการเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งยังคงยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของแนวคิดของ โรเบิร์ต โอ เคียวเฮน และโจเซฟเอชไน (Robert O. Keohane and Joseph S. Nye)ที่ว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้น ประเทศที่พึ่งพาอีกฝ่ายน้อยกว่าจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า
การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทยผลงานการวิจัยของผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุลจากคณะเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งของคนในสังคมไทยในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ที่ดิน บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงิน และหลักทรัพย์ งานวิจัยพบว่า มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในทรัพย์สินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ทั้งนี้ ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐให้มีการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการกระจายการถือครองทรัพย์สิน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2558
ระดับดี
การย้ายถิ่นฐานผ่านการสมรส: ชาติพันธุ์นิพนธ์เชิงวิพากษ์ว่าด้วยชีวิตข้ามพรมแดนผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร.จันทนี เจริญศรี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นงานวิจัยที่มาจากการทำงานสนามในประเทศอังกฤษกว่า 4 ปี มุ่งจะทำความเข้าใจแบบแผนของเส้นทางการย้ายถิ่นของผู้หญิงไทยผ่านการแต่งงานกับชายชาวอังกฤษ และพบว่าผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจจะกลับมาพักอาศัยในบ้านเกิด ตรงข้ามกับคู่สมรสชาวอังกฤษของเธอ งานวิจัยนี้อธิบายว่าเหตุใดผู้หญิงไทยในยุคหลังจึงไม่ผูกพันกับความเป็นไทยแม้จะรักษาสายสัมพันธ์กับญาติอยู่ และแม้จะเป็นงานวิจัยพื้นฐานแต่ก็มีการนำเสนอนัยยะเชิงนโยบายหากรัฐอยากจะดึงดูดคู่สมรสข้ามวัฒนธรรมให้เข้ามาใช้จ่ายในไทย ก็ควรต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุใดผู้หญิงไทยกลุ่มนี้จึงต้องการไปใช้ชีวิตที่อื่น
เศรษฐีใหม่สวนยาง: การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพของครัวเรือนชาวนาในลุ่มน้ำห้วยคองผลงานวิทยานิพนธ์ของ ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ที่ว่า ยางพาราได้เข้ามาในลุ่มน้ำห้วยคอง จังหวัดบึงกาฬตั้งแต่โครงการอีสานเขียวและการเข้ามาของยางพารา ได้ทำให้วิถีชีวิต วิถีการผลิต วิถีการบริโภคและทรัพยากรในการดำรงชีพของครัวเรือนชาวนาเปลี่ยนแปลงไป
ชายขอบแห่งการประนีประนอม: การอพยพย้ายถิ่นฐานและการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทในชายแดนอีสาน-ลาวผลงานวิทยานิพนธ์ของ ผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามแดนระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนแม่น้ำโขงในภาคอีสานและประเทศลาวลาว โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพรมแดนเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย จนทำให้เส้นแบ่งเขตแดนแทบจะกลายเป็นเส้นสมมติ และก่อให้เกิดการประนีประนอมระหว่างรัฐกับหมู่บ้านในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายแดนแทน
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559
รางวัลประกาศเกียรติคุณ
เครื่องตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดสมองแบบทันเวลาด้วยสัญญาณTCD ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ผนวกรวมศาสตร์ทางการแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มุ่งเฝ้าระวังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในบุคคลที่มีความเสี่ยง รวมถึงลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย
บรรจุภัณฑ์แบบ Active Packaging สำหรับลำไยสดไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออกผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับลำไยสด ของ รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตรคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้เทคโนโลยีการบรรจุแบบดัดแปลงบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging : MAP) และเทคโนโลยี Active and Intelligent Packing ที่ออกแบบขึ้นจำเพาะสำหรับลำไยสด และไม่ต้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)แต่สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 60 วัน
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว จะถูกนำไปจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2559 ตั้งแต่วันนี้ - 6 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บริเวณอีเว้นท์ฮอลล์ 102-103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ สำหรับงานวันนักประดิษฐ์ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" พร้อมกันนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสในการเผยแพร่ ถ่ายทอดและขยายผลงานประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจทั้งนักประดิษฐ์ไทยและเยาวชนรุ่นใหม่ในการประดิษฐ์คิดค้นให้มีประสิทธิภาพสูง
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21"
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493