กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรฯ ว่า วันนี้เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการประมงแห่งชาติ จัดตั้งตาม พรก. การประมง พ.ศ. 2558 จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการ และจะประกอบด้วยปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผบ.ตร. อธิบดีกรมการปกครอง ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 10 ท่าน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
และมีอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการ และ เลขานุการ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 59 จำนวน 10 ท่าน ดังนี้
1. นายสะมะแอ เจะมูดอ ด้านการประมงชายฝั่ง
2. นายกิตติ โกสินสกุล ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง
3. นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์ ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย
4. นายปัญญา คำลาภ ด้านการประมงน้ำจืด
5. นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
6. นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ
7. นางเรวดี ประเสริฐเจริญกุล ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8. นายนิธิวัฒน์ ธีรนันทกุล ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9. นายกังวาลย์ จันทรโชติ นักวิชาการด้านการประมง
10. นายธรรมโชติ อิงธรรมจิตร์ นักวิชาการด้านการประมง
ซึ่งการประชุมในวันนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การกำกับการบริหารจัดการประมงของประเทศ มีประเด็นสำคัญในการพิจารณา เช่น การกำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงในน่านน้ำไทย แนวทางการออกใบอนุญาต สอดคล้องกับขีดความสามารถ และปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำ และการแก้ไขมาตรา 34 เป็นต้น และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 กรมประมงจะมีการประกาศปิดอ่าว ประจำปี 2559 ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งรวมระยะเวลาปิดอ่าว 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ของทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ปิดอ่าว ประมาณ 26,400 ตรม. ใน 3 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
ด้านความคืบหน้ามติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 59 เรื่องการใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจากนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้เกษตรลดต้นทุนการทำการเกษตร สร้างความเข้มแข็งรวมกลุ่มทำการเกษตร เช่น การมีต้นทุนที่ไม่มีดอกเบี้ยทำการเกษตร การรวมกลุ่มเพื่อผลิต/ขายผลผลิต ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 59 กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ ครม. เพื่ออนุมัติใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1,000 บาท ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืม โดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลา 5 ปี (2559 - 2564) โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำไปจัดทำโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด
ในปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำนวน 5,618 กลุ่ม สมาชิก 618,841 ครอบครัวโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประเมินกลุ่มเกษตรกร ณ วันที่ 1 ต.ค. 58 ผ่านมาตรฐาน จำนวน 3,272 กลุ่มสำหรับการดำเนินการ จะให้กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐาน จำนวน 2,000 กลุ่ม สามารถกู้ยืมได้กลุ่มละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนซื้อปัจจัยการผลิตตามรอบการผลิต ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาปี 2551 - 2557 กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถชำระคืนได้ทั้งหมด
ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยจัดทำโครงการอบรมเพิ่มความรู้ในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ซึ่งจะมีเป้าหมายการอบรมทั้งหมด 5 รุ่น เกษตรกรจำนวน 220,000 ราย โดยได้เริ่มการอบรมเมื่อวันที่ 1 - 5 ก.พ. ในพื้นที่ 46 จังหวัด 536 ศูนย์ ผู้เข้าอบรม 26,800 ราย วันที่ 8 – 12 ก.พ. พื้นที่ 28 จังหวัด 305 ศูนย์ ผู้เข้าอบรม15,250 ราย และวันที่ 15 - 19 ก.พ. พื้นที่ 41 ศูนย์ ผู้อบรม 2,050 ราย ซึ่งมีการอบรม ไปแล้วรวม 68,850 ราย จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้ว 52 ล้านบาท
และตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งครอบคลุม 13 จังหวัด 50 อำเภอ 257 ตำบล รวม 2,407 หมู่บ้าน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรจะพุ่งเป้าในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าว และเตรียมลงพื้นที่ในโอกาสต่อไปด้วย