กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
Dr.Edward Moran พร้อมด้วยทีมวิจัย เข้าพบผู้บริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนหารือความร่วมมือด้านการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษร่วมกันในอนาคต โดยมี รศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มรภ.สงขลา เป็นตัวแทนคณะผู้บริหารร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนอย่างชื่นมื่น
Dr.Edward Moran จาก School of Applied Social Science and Education , University of Stinling ประธานเครือข่ายโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ของประเทศสก๊อตแลนด์ ผู้ริเริ่มหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ Flipped Classroom ที่กำลังขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวางทั่วโลกในขณะนี้ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยและสถานบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ ฯลฯ และมีแนวโน้มว่า กระทรวงศึกษาธิการจะนำแนวการเรียนการสอนนี้บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย
Flipped Classroom แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ครูผู้สอนจะได้สื่อสารกับผู้เรียนผ่านกิจกรรม และสื่อมัลติมีเดีย ต่างๆ โดยเจ้าของภาษาเปรียบเสมือนครูผู้ช่วยคอยให้คำแนะนำ อธิบายให้ความกระจ่างถึงรากศัพท์หรือนัยยะที่แฝงไว้ด้วยลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกมากขึ้น อีกทั้งกิจกรรมผ่านการเรียนการสอน ผู้สอนจะสามารถสังเกตุเห็นจุดที่ควรปรับปรุงของผู้เรียนแต่ละคนได้เป็นรายบุคคล ส่งผลให้สามารถแก้ไขได้ตรงจุด
อ.กฤติยา สิทธิเชนทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยทักษิณ 1 ในทีมวิจัยร่วมกับ Dr.Edward และผู้นำแนวการสอนแบบ Flipped Classroom มาใช้กับการเรียนการสอน รายวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ที่ตนเองสอน ร่วมพูดคุยถึงแนวการสอนรูปแบบใหม่นี้ เพิ่มเติมว่า
"ปัจจุบันเด็กไทยยังติดอยู่กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ ครูผู้สอนก็ยังยึดการสอนแบบกางตำรา กางเอกสารประกอบการเรียนมากกว่า จนเหมือนเรากำลังสื่อสารกับสื่อการสอนมากกว่าสื่อสารกันเองระหว่างครูและศิษย์ ผู้เรียนก็เรียนเพียงเพื่อใช้สอบ ใช้ทำรายงานให้ได้คะแนนเยอะๆ เพื่อได้เกรดดีๆ และในฐานะครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ถึงแม้เราจะมีความเข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ก็อาจจะไม่เข้าใจถึงแก่นทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ในบริบทต่างๆได้ดีเท่ากับเจ้าของภาษา
การเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom ของ Dr.Edward เป็นเสมือนเครือข่ายพี่เลี้ยงของครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั่วโลก เราแลกเปลี่ยนทุกอย่างกันผ่านสื่อมัลติมีเดียใกล้ตัว เช่น Dropbox Youtube Skype หรืออื่นๆ โดยมี Dr.Edward ที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแลให้คำแนะนำอีกต่อหนึ่ง เหมือนเป็นการบูรณาการแลกเปลี่ยนกันระหว่างครูผู้สอนจากเครือข่ายทั่วโลก ครูผู้สอนเองก็เหมือนได้เปิดโลกทัศน์และเห็นมุมมองของเพื่อนร่วมวิชาชีพท่านอื่นๆจากทั่วโลก และในการเรียนการสอนก็สามารถช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นของเด็กได้มากขึ้น จากการที่เขาต้องทำรายงานหน้าชั้นส่งอาจารย์เพียงคนเดียว แต่เมื่อเขาต้องนำเสนองานผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ สู่สายตาเจ้าของภาษา เขาก็เกิดความท้าทายและตั้งใจที่จะทำให้ผลงานออกมาดีมากขึ้น เหมือนเขากำลังเป็นตัวแทนประเทศไทยในการนำเสนอผลงาน เด็กๆจึงสนุกและทุ่มเทกับการนำเสนองานมาก บรรยากาศการเรียนก็มีชีวิตชีวามากกว่าเดิม เพียงแค่ปรับเทคนิคเล็กๆน้อยๆจากเรื่องที่เราอาจมองข้ามไป
และการที่ Dr.Edward มาพบกับผู้บริหารของ มรภ.สงขลาในครั้งนี้ ก็เป็นเพียงการเสนอตัวด้วยความจริงใจว่า ท่านยินดีให้ความร่วมมือกับมรภ.สงขลา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ เผื่อจะเกิดประโยชน์ต่อการปรับการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษร่วมกันในอนาคตค่ะ"
ซึ่งในโอกาสนี้ ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ก็ได้กล่าวกับคณะ Dr.Edward ว่า
"มรภ.สงขลา เรารู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ที่มีโอกาสได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนกับผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกอย่าง Dr.Edward Moran โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก เพราะความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผมได้เปรียบทางด้านภาษา ซึ่งในโลกปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า ผู้ที่ได้เปรียบทางภาษาจะก้าวไปได้ไกลกว่าแน่นอน ในโอกาสนี้ ก็นำเรื่องราวที่เราได้แลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ ไปรายงานให้กับคณะผู้บริหารทราบ เพื่อดำเนินให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"
และสุดท้ายนี้ อ.กฤติยา สิทธิเชนทร์ ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ในฐานะของทีมวิจัยร่วมกับ Dr.Edward ต้องขอขอบคุณ มรภ.สงขลาเป็นอย่างมากที่เปิดโอกาสให้เราได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางสร้างความร่วมมือกันในอนาคต และจากการการได้มีโอกาสร่วมงานกับ Dr.Edward มา ทำให้ตระหนักและเข้าใจว่า Flipped Classroom คือแนวคิดจากการมองเห็นถึงข้อจำกัดเล็กๆน้อยๆ ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยความเข้าใจ นี่อาจไม่ใช่โปรเจคต์ที่ยิ่งใหญ่จนเปลี่ยนแปลงโลกได้ในชั่วพริบตา แต่หากมันจะสามารถจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กไทยซักกลุ่มหนึ่งได้บ้าง ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ"
นับเป็นอีกหนึ่งทิศทางด้านความร่วมมือที่น่าติดตามว่า Flipped Classroom จะเป็นกลเม็ด กลวิธี ในการปรับทิศทางการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใดค่ะ