กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--
กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2558 พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปรับดีขึ้น ที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีและความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ยังถูกหน่วงจากการหดตัวของภาคส่งออก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ยังขยายตัวได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นและคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปในปี 2559
การใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเบิกจ่ายได้ดีทั้งงบประจำและงบลงทุน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ที่เติบโตต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นำโดยนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนเป็นหลัก
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายทั้งหมวดสินค้าไม่คงทน และสินค้าคงทนที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อรถก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ส่งให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวจะกระจุกอยู่ในบางหมวด อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง
ภาคส่งออกในเดือนนี้ หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ 8.7 ทำให้ยอดส่งออกทั้งปี 2558 ติดลบร้อยละ 5.8 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ที่สำคัญคือเป็นปีแรกที่ทั้งปริมาณและราคาหดตัว ทั้งนี้พบว่าตลาดหลักส่วนใหญ่ทั้งจีน ญี่ปุ่น หดตัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะอาเซียน-5 หดตัวถึงร้อยละ 15 อย่างไรก็ดี ตลาด CLMV ที่เติบโตแข็งแกร่งช่วยพยุงการส่งออกไม่ให้ทรุดหนักไปมาก
สำหรับในปี 2559 กกร.ประเมินว่าจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจกดดันการฟื้นตัวภาคส่งออก และราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับภัยแล้งที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยต้องติดตามการเร่งดำเนินนโยบายของภาครัฐและแนวโน้มความเชื่อมั่นของทุกภาคเศรษฐกิจอย่างใกล้ รวมทั้ง หากภาครัฐเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเริ่มลงทุนได้ตามเป้าในครึ่งปีหลังของปี 2559 ก็จะเห็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง
กกร. ได้พิจารณา เรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
(Trans-Pacific partnership: TPP) โดยมีการสอบถามสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่จะเข้าร่วม กกร. จึงมีมติ เห็นด้วยที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยการเข้าร่วมเจรจาต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบในภาพรวมของประเทศเป็นสำคัญ ให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่ประสบปัญหา
กกร.มีการจัดตั้งคณะทำงาน Asean Hub เพื่อศึกษาการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางใน Asean ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
กกร.สนับสนุนการจัดคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางไปกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกับประเทศต่างๆ