กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) นำทีมผู้เชี่ยวชาญสรุปวิเคราะห์การสำรวจสภาพที่เกิดเหตุไฟไหม้เป็นอาคารที่พักอาศัยสูง 9 ชั้น เลขที่ 2204/5 ภายในซอยนราธิวาส 18 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตยานนาวา กทม.เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ 10.22 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 สันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการจุดธูปเทียนไหว้เจ้า หรือไฟฟ้าลัดวงจร บริเวณห้องนั่งเล่นบนชั้น 3 ทำให้มีแสงเพลิงลุกไหม้ที่ชั้น 3 แล้วลุกลามไปจนถึงชั้น 9 อย่างรวดเร็ว มีกลุ่มควันและแสงเพลิงหนาแน่นนานกว่า 2 ชั่วโมง วสท.ยืนยันการตรวจเบื้องต้นโครงสร้างอาคารยังแข็งแรง สามารถซ่อมแซมได้ ไม่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวถล่มลงมา ทั้งนี้ วสท.เผยเตรียมตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วน 9 กลุ่ม ดำเนินการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในอาคารประเภทต่างๆ 9 ประเภทสำหรับประเทศไทย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) กล่าวว่า ตึกที่ถูกไฟไหม้ดังกล่าวนี้สูง 9 ชั้น ก่อสร้างเสร็จในปี 2535 มีบันไดลิง พื้นภายในตกแต่งด้วยไม้ปาร์เกต์ ส่วนผนังและเพดานตกแต่งด้วยไม้สัก การตรวจสอบอาคารพบบริเวณที่อาจเป็นต้นกำเนิดเพลิงอยู่บริเวณโถงชั้น 3 แล้วลุกลามขึ้นไปที่ชั้น 4 - 9 อย่างรวดเร็วผ่านช่องบันไดเพราะเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ ทางคณะผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคารทางวิศวกรรม ตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไป มีความเสียหายที่ต้องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการตรวจสอบด้วยสายตา ภาพรวมพบว่าโครงสร้างอาคารยังมีความแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงว่าจะถล่มลงมา และในขณะนี้ วสท. และคณะทำงานกำลังจัดตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วน เพื่อจัดทำ "มาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัยสำหรับอาคาร 9 ประเภท ในประเทศไทย" ตามลักษณะและการใช้งานอาคาร ดังนี้ 1.) อาคารโรงแรม 2.) อาคารโรงพยาบาล 3.) อาคารห้างสรรพสินค้า 4.) อาคารโรงงาน 5.) อาคารสำนักงาน 6.) อาคารที่พักอาศัย 7.) อาคารตลาดเก่า ชุมชนเก่า หรือตลาดอนุรักษ์ 8.) อาคารโรงเรียน สถานศึกษา และ 9.) อาคารสถานบริการ
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า เนื่องจากอาคารดังกล่าว ถือเป็นอาคารเก่า ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นช่วงที่กฎหมายควบคุมอาคาร ยังไม่รัดกุมในเรื่องของการติดตั้งระบบป้องกันไฟ เมื่อเข้าไปตรวจสอบจึงไม่พบว่ามีระบบดับเพลิง สปริงเกอร์ บันไดหนีไฟ และถังดับเพลิง แต่ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะอาคารดังกล่าวก่อสร้างก่อนที่กฎหมายควบคุมอาคารเรื่องการติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้จะบังคับใช้ อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงเจ้าของอาคารสูงที่มีการก่อสร้างนานแล้ว และไม่มีการติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้ ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเพราะถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิต และทรัพย์สิน สำหรับเจ้าของอาคารที่สนใจติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้ วสท. ก็จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา
เจ้าของอาคารควรให้ความสำคัญและตรวจสอบระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารทั่วไปรวมทั้งอาคารที่ใช้เพื่อการชุมนุมคนเช่น หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ห้องแถว ตึกแถว บ้านแฝด อาคารที่อยู่อาศัยรวมหรืออพาร์ตเมนต์ที่มากกว่า 4 ยูนิตขึ้นไปต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากอัคคีภัย โดยมีสิ่งจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยใน"อาคารทั่วไป"คือ 1.) ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ควรติดตั้งในห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต แต่ถ้าสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องติดตั้งทุกชั้นในแต่ละยูนิต และอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร 2.) ส่วนประกอบของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชุดอุปกรณ์แจ้งเหตุมีทั้งแบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ (Detector) และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ(Manual Alarm)เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทำงาน ส่วนอุปกรณ์อีกชุดหนึ่งคือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเมื่อเกิดไฟไหม้ 3.) การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต ส่วนอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะอื่นๆ ต้องติดตั้งในแต่ละชั้นอย่างน้อย 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละเครื่องต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นง่ายสะดวกต่อการดูแลรักษา 4.) ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟป้ายบอกตำแหน่งชั้นและทางหนีไฟพร้อมไฟฉุกเฉิน ต้องติดตั้งทุกชั้นของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปและอาคารอื่นๆที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร 5.) ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองอาคารสาธารณะที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่ระบบไฟฟ้าปกติขัดข้องและต้องสามารถจ่ายไฟในกรณีฉุกเฉินได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดที่มีเครื่องหมายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดินและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 6.) บันไดหนีไฟ อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 บันไดนอกเหนือจากบันไดหลัก ถ้าเป็นอาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 2 บันไดที่ต่อเนื่องจากชั้นดาดฟ้าถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร
คุณบุษกร แสนสุข (Busakorn Saensookh) ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยอาคารและอัคคีภัย กล่าวว่า "อาคารสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยและผู้อยู่ในอาคารนั้นจะต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย กล่าวคือ 1) ระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและสามารถแจ้งเตือนภัยให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารประเภทที่อยู่อาศัย ลักษณะการใช้อาคารจะเป็นที่พักผ่อนหลับนอน จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยปลุกคนได้ในขณะหลับ นอกจากนี้จะต้องมี 2) บันไดหนีไฟที่ปลอดภัยอย่างน้อยสองบันได 3) มีป้ายทางหนีไฟที่บอกทางออกหนีไฟให้เห็นชัดเจน 4) มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟไปตลอดทางกระทั่งออกนอกอาคารโดยสมรรถนะต้องส่องสว่างได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 5) ต้องมีแผนผังทางหนีไฟและตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยติดแสดงให้เห็นชัดเจนในทุกชั้นของอาคาร 6) มีอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นหรือถังดับเพลิงติดตั้งในทุกชั้นครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร 7) การกั้นแยกแบ่งส่วนอาคาร การป้องกันไฟลามในแนวดิ่ง ช่องท่อ ช่องบันได ช่องเปิดต่างๆ ต้องปิดที่พื้นด้วยวัสดุทนไฟ 8) ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) ติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร มีระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง(Fire Pump)ที่ได้มาตรฐาน มีวาล์วและสายฉีดน้ำดับเพลิงที่สามารถลากไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร 9) บันไดหนีไฟต้องมีระบบป้องกันควันไฟที่ได้มาตรฐาน 10) ต้องมีลิฟต์ดับเพลิง 11) ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายไฟให้กับระบบความปลอดภัยของอาคารอย่างน้อยสองชั่วโมง 12) อาคารจะต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอัคคีภัย มีการตรวจสอบ ทดสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา 13) อาคารต้องมีแผนฉุกเฉินอัคคีภัย มีการอบรมดับเพลิงขั้นต้น มีการซ้อมอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี มีการประเมินเส้นทางเข้าถึงของรถดับเพลิง ซึ่งการดับเพลิงขั้นต้นและซ้อมอพยพหนีไฟนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องอัคคีภัย มั่นใจในการระงับเหตุขั้นต้น รู้วิธีอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย และประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ 14) การควบคุมวัสดุในอาคาร ทั้งวัสดุตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร วัสดุที่จะนำมาใช้ต้องไม่ติดไฟหรือติดไฟยาก ไม่ลามไฟและผลิตควันน้อย ไม่เป็นพิษ ควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มเติมเข้าในอาคาร เนื่องจากถ้ามีวัสดุติดไฟง่ายและมีเชื้อเพลิงจำนวนมากควรติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่เหมาะสมกับชนิดและปริมาณเชื้อเพลิงด้วย โดยเฉพาะในเส้นทางหนีไฟต้องควบคุมการใช้วัสดุติดไฟและมีควัน สำหรับผนังภายนอกอาคารก็ต้องควบคุมวัสดุติดและลามไฟเช่นกัน เนื่องจากถ้าเกิดเพลิงไหม้นอกอาคารจะดับได้ยาก ไฟจะลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งสำหรับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ผนังภายนอกอาคารสูงในต่างประเทศ
นับวันประเทศไทยจะมีอาคารสูงและอาคารทั่วไปเกิดขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) จะร่วมกับหลายภาคส่วน ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร 9 ประเภท ที่แตกต่างตามลักษณะการใช้งานนั้น ทาง วสท. และคณะทำงานกำลังจะดำเนินการศึกษาและจัดทำให้เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยของประชาชนและเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทยและความยั่งยืนด้านสังคมและเศรษฐกิจ คาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน ปี 2559"
รศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช (Assoc.Prof.Dr.Aunthawath Charusrojthanadeeh) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทางทีมงานวิศวลาดกระบังมีความพร้อมในการสำรวจตัวอาคารครั้งนี้ โดยได้เตรียมเครื่องมือทางวิศวกรรมมาเพื่อทดสอบอาคารครบถ้วน ได้แก่ 1.) กล้องสำรวจ เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบระดับ และตรวจสอบแนวของโครงสร้าง เพื่อให้ทราบว่าอาคารเกิดการแอ่นตัว หรือเสาเข็มบางต้นเกิดการเอียง (มักนิยมเรียกวาหนีศูนย์) มากน้อยเพียงใด 2.) เครื่องมือสำหรับเจาะคอริ่งคอนกรีต (Coring) ใช้เก็บตัวอย่างแท่งคอนกรีต เพื่อนำไปทำสอบความแข็งแรงของคอนกรีต และ 3.) ค้อนยิงคอนกรีต (Schmidt Hammer) เป็นเครื่องมือสำหรับทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีตแบบไม่ทำลาย โดยการกดยิงไปที่คอนกรีตแล้ววัดผลสะท้อนกลับ เพื่อนำค่าที่ได้ไปวิเคราะห์เทียบกับตารางมาตรฐาน ดัชนีตั้งแต่ 10 ถึง 100 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซับพลังงานของผิวคอนกรีต ผิวคอนกรีตที่มีความแข็งมากกว่า จะมีค่าดัชนีสะท้อนกลับสูง แต่ว่าการตรวจอาคารในครั้งนี้ยังไม่ได้นำเครื่องมือมาใช้ แต่ได้ทำการตรวจสอบทางกายภาพวิเคราะห์ว่าจุดใดบ้างที่มีปัญหา
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการขนย้ายสิ่งปรักหักพังที่เป็นน้ำหนักส่วนเกินออกจากอาคาร เพื่อเป็นการลดกำลังของโครงสร้าง ขั้นตอนหลังจากนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าของโครงการมีความประสงค์ให้ทาง วสท. เข้าไปทำการตรวจสอบอย่างละเอียด วสท. ก็ยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งก่อนจะเข้าสำรวจอย่างละเอียดนั้นต้องมีการค้ำยันโครงสร้างส่วนที่เป็นปัญหาหนักถึงจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างปลอดภัย สำหรับระยะเวลาของการตรวจสอบจะใช้เวลาในการเก็บข้อมู 2 - 3 วัน แต่ก็มีบางกรณีที่ต้องตัดเจาะชิ้นส่วนออกมาสำรวจ ซึ่งหลังจากเก็บข้อมูลหรือชิ้นส่วนแล้ว ก็จะใช้เวลาในการทดสอบอย่างน้อย 7 วัน ถึงจะทราบผล