กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--แบงค์คอก ไรเตอร์
ชี้กฎหมายควบคุมอาคารลงโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกทั้งจำคุก-ปรับ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเกิดเหตุไฟไหม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน สำนักงาน คปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงอยากเตือนประชาชนให้ความสำคัญในการทำประกันอัคคีภัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำประกันภัยไว้แล้วควรตรวจสอบกรมธรรม์ว่าหมดอายุหรือไม่ เพราะการทำประกันภัยสามารถบรรเทาความเสียหายทางการเงินได้เมื่อเกิดภัยที่ไม่คาดคิดขึ้น ทั้งนี้การทำประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารนั้นมีทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับตามกฎหมาย โดยในส่วนของอาคารอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งบังคับให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ สำหรับอาคารชนิดหรือประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและจำนวนเงินเอาประกันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดในกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร
สำหรับอาคารของเอกชนที่จะต้องปฎิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบไปด้วย อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ รวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 15 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 20 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งหากไม่ปฎิบัติตามจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นสำนักงานคปภ.จึงฝากเตือนไปยังเจ้าของอาคารหรือผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยในทรัพย์สินดังกล่าวด้วย เพราะหากไม่ทำประกันภาคบังคับ นอกจากจะได้รับความเสียหายเมื่อเกิดอัคคีภัยแล้ว ยังอาจได้รับโทษถึงจำคุกและปรับ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหรือความเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ เช่น ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน สต๊อกสินค้า เครื่องจักร และเครื่องตกแต่งที่ติดตั้งไว้กับตัวอาคาร โดยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะให้ความคุ้มครอง สิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคารใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) ทรัพย์สินภายในบ้าน สิ่งที่ติดกับตัวอาคาร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยให้ความคุ้มครอง ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยจากน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมภายในอาคาร (ไม่รวมน้ำท่วม) รวมถึงภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ และภัยแผ่นดินไหว สำหรับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ การโจรกรรมและอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น โดยประชาชนผู้ประกอบการต่างๆสามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ตามความเหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเอง โดยขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย โดยเฉพาะอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ เห็นควรมีการทำประกันภัยดังกล่าวข้างต้น