กทม.จะเสนอรัฐบาลส่งเสริมนำเข้าชิ้นส่วนต่อรถเมล์ในไทย ขอรับรถครีม-แดงจากขสมก.มาดำเนินการเอง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 13, 2000 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กทม.
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร ประจำสัปดาห์ วันที่ (12 ก.ย.43) ที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการรับโอนกิจการขสมก.มาเป็นของกทม. เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการหารือกับคณะกรรมการพิจารณาการโอนกิจการขสมก. ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.ในวันนี้มีความเห็นว่า กทม.จะเสนอความเห็นของฝ่ายบริหารกทม.ต่อรัฐบาลว่า จะไม่ขอรับโอนกิจการขสมก.มาทั้งหมด เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่า พนักงานขสมก.เองไม่อยากโอนมาอยู่ในกทม. เพราะเป็นห่วงว่าจะได้สวัสดิการไม่ดีเท่าที่เคยได้รับ ประกอบกับกิจการของขสมก.เองก็ไม่ได้ขาดทุนเสียทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่มีกำไรดีอยู่แล้ว เช่นรถยูโรสีส้ม รถป.อ. รถไมโครบัส เป็นต้น ผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อว่า ส่วนที่ขสมก.มีกำไรอยู่แล้วนั้นก็ให้ขสมก.ดำเนินการต่อไป แต่กทม.จะรับเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาขาดทุนอยู่ คือ รถร้อน หรือรถครีม - แดง ราคา 3.50 บาท ทุกสาย มาดำเนินการเอง โดยจะให้สัมปทานกับเอกชนเข้ามาดำเนินการในราคาตั๋ว 5 บาทตลอดสาย ซึ่งรถที่จะใช้นั้นเป็นรถใหม่ทั้งหมด เพื่อควบคุมเรื่องมลพิษ อย่างไรก็ตาม หากใช้รถชนิดยูโร 2 ซึ่งมีมลพิษต่ำนั้น ราคาสูงถึงคันละ 2.5 ล้านบาท ถ้านำมาใช้วิ่งราคา 5 บาท ก็จะขาดทุน จึงน่าจะใช้รถชนิดยูโร 1 ซึ่ง ได้มีการวิจัยด้านปัญหามลพิษแล้วพบว่าสามารถนำมาใช้เป็นรถประจำทางไม่ปรับอากาศในกรุงเทพฯ ได้ อย่างไรก็ตาม รถยูโร1 มีราคาประมาณคันละ 1.5 ล้านบาท เก็บอัตราค่าโดยสารราคา 5 บาท อาจขาดทุน ทางกทม.จึงเสนอเงื่อนไข ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถ 3 ชนิด โดยยกเว้นภาษีนำเข้าเพื่อส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย 1.แคซซี ซึ่งเป็นโครงคานรถเมล์โดยสารยาวประมาณ 12 เมตร โดยอาจนำเข้าของเก่าซึ่งมีคุณภาพดีจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราคาถูก 2. เครื่องยนต์ใหม่ และ 3.เกียร์บ๊อกซ์ใหม่ หากมีชิ้นส่วนทั้ง 3 ชนิดนี้แล้วสามารถนำมาต่อตัวรถได้เองภายในประเทศได้ทันที ซึ่งจะทำให้รถใหม่นี้มีราคาประมาณ 7-8 แสนบาทเท่านั้น เมื่อนำมาบริการ 5 บาทก็จะไม่ขาดทุน ทั้งนี้ คานรถเมล์ส่วนหนึ่งสามารถนำมาจากรถครีม-แดงของขสมก.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเครื่องยนต์ใช้เครื่องใหม่และต่อตัวรถใหม่ทั้งหมด
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวด้วยว่า กทม.ไม่ต้องรับบุคลากรเพิ่มเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของการจัดสวัสดิการให้กับพนักงาน เพราะจะสัมปทานไปให้กับเอกชนดำเนินการในทุกสาย โดยจะตั้งสำนักงานเป็นศูนย์กลางรวมเส้นทางมาจัดการเรื่องเส้นทางรถเมล์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ตนยังได้เสนอแนวคิดต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม. ให้มีการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีการทดลองใช้อยู่ในประเทศอินเดียและเนปาลจำนวน 650 คัน เป็นรถที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา มี 3 ประเภท คือ รถโดยสารขนาด 22 ที่นั่ง คล้ายรถเมล์เล็กใน กทม. รถโดยสาร 12 ที่นั่ง ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารตามตรอก ซอยต่าง ๆ และรถเล็กขนาดรถตุ๊ก ๆ ความเร็ว 45 กม./ชม. บรรทุกผู้โดยสารได้ 6 คน ใช้วิ่งรับส่งในซอยได้ปลอดภัยกว่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตนเห็นว่าหาก BOI สนับสนุนแนวคิดการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้เป็นรถยนต์โดยสาร โดยการยกเว้นภาษีนำเข้า ก็จะเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศในกทม.ได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการสร้างงานให้คนไทยอีกด้วย ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้โดยการสั่งนำเข้าในส่วนที่เป็นเครื่องยนต์แบตเตอร์รี่ ส่วนตัวถังประเทศไทยสามารถประกอบได้เองในราคาไม่แพง--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ