อย.ตรวจสอบสตาร์บัคส์ คุมเข้มสารอีเฟดรีน ให้ผู้บริโภควางใจ

ข่าวทั่วไป Friday September 14, 2001 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--อย.
อย. เผยล่าสุดมีการนำเข้าชาทาโซ แต่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากบริษัทผู้นำเข้าได้ระงับ จึงไม่ผ่านด่านศุลกากร แต่หากกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ อย. จะเร่งดำเนินการทันที พร้อมย้ำ ไทยมีความเข้มงวดควบคุมสารอีเฟดรีนอยู่แล้ว มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด หากตรวจพบมีโทษปรับถึงสี่แสนบาท และจะดำเนินการต่อไปอย่างเข้มงวด
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากที่มีข่าวปรากฎทางสื่อมวลชนกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการดำเนินคดีกับร้านสตาร์บัคส์ เนื่องจากพบสารอีเฟดรีน ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อาจทำให้หัวใจวาย เสียชีวิตได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มิได้นิ่งนอนใจ เมื่อวันที 10 กันยายน 2544 ได้ให้เจ้าหน้าที่อาหารและยา ตรวจสอบข้อมูลและเก็บตัวอย่างจากร้านสตาร์บัคส์ในไทย 4 แห่ง เพื่อหาสารอีเฟดรีนที่ใส่ผสมในชาทาโซ (Tazo) พบว่า ยังไม่มีการนำเข้าชาทาโซ จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียง ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูป เมล็ดกาแฟคั่ว ชาผงบรรจุซองพร้อมชง ชาสำเร็จรูป และส่วนผสมอื่นๆ รวม 16 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาสารอีเฟดรีน และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2544 อย. ได้รับแจ้งจากบริษัทสตาร์บัคส์ว่า มีการนำเข้าชาทาโซแล้วผลิตภัณฑ์อยู่ที่โกดังท่าเรือสยามบางกอกพอร์ท สมุทรปราการ ทางเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยา จึงรีบไปตรวจสอบ แต่ทางบริษัทได้แจ้งระงับการทำพิธีทางการศุลกากร และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจจะไม่ประสงค์นำเข้าและขอส่งกลับ โดยอยู่ในระหว่างปรึกษากับบริษัทสตาร์บัคส์ในอเมริกาและทนายความของบริษัทอยู่ ซึ่งทำให้ อย. ไม่สามารถดำเนินการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ได้ เนื่องจากโดยทั่วไป อย. จะทำการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์เมื่อมีการนำเข้าผ่านศุลกากรเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี อย. จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหากมีข้อกฎหมายที่อนุญาตให้สามารถดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ผ่านขบวนการทางศุลกากรได้ อย.จะดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยด่วน ถ้าผลออกมามีสารอีเฟดรีน อย. จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดกับผู้ประกอบการรายนั้นทันที
เลขาธิการฯ กล่าวต่อในตอนท้ายว่า อย. ได้ควบคุมสารอีเฟดรีน (Ephedrine) ที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยากลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine) หรือ ยาบ้า ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารที่สามารถนำไปใช้ในการลักลอบผลิตวัตถุเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนคนไทย หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน มีการผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ปี 5-20 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสี่แสนบาท สำหรับทะเบียนตำรับที่มีสารอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมในตำรับต่างๆนั้น อย. ได้ยกเลิกแล้วตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้ ระบบการควบคุมสารอีเฟดรีนของไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเข้มงวดมาก--จบ--
--วว--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ