วช. จัดสัมมนา เรื่อง “ผลผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงหอยหวานระยะวัยรุ่น”

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2005 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาผลการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงหอยหวานระยะวัยรุ่น (Babylonia areolata Link 1807) ถึงขนาดตลาดในบ่อดินด้วยวิธีการเลี้ยงแบบต่าง ๆ” ในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2548 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมทิพย์วิมาน รีสอร์ทหาดชะอำ (โกลเด้นแซนด์) จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนางมธุรส สุมิพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
หอยหวาน (หอยตุ๊กแกหรือหอยทิพรส) เป็นหอยทะเลฝาเดียวที่อยู่ในสกุล Babylonia areolata Link 1807 มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีปริมาณความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ในช่วงระยะเวลา 3 - 5 ปีที่ผ่านมา การจับหอยหวานไทยรวมถึงขนาดของหอยที่จับได้มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก การขยายตัวของตลาดและราคาของหอยหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ผลผลิตหอยหวานไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น การสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงหอยหวานไทยในเชิงพาณิชย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตหอยหวานไทยให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกร นักเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลาดหอยหวาน และธุรกิจที่เกี่ยวกับการเลี้ยงหอยหวานให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของสัตว์น้ำทะเลเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สูงยิ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่
ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงหอยหวานระยะวัยรุ่น (Babylonia areolata Link 1807) ถึงขนาดตลาดในบ่อดินด้วยวิธีการเลี้ยงแบบต่าง ๆ” เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง
หอยหวานไทยที่สามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณค่าของผลผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นต่อไป และได้จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าว โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย นักวิจัย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป จำนวนประมาณ 250 คน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ