กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
พร้อมเปิดผลวิจัยผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 72 มีอาการที่บ้าน และกว่าครึ่งหยุดพักรออาการก่อนมารักษา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคหัวใจในประเทศไทย ว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีสถิติของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการทางโรคหัวใจ รวม 130,942 คน แบ่งเป็น อาการหายใจลำบาก ติดขัด มากที่สุด 99,052 คน รองลงมาคือ เจ็บแน่นทรวกอก 31,035 คน และ หัวใจหยุดเต้น 855 คน
นอกจากนี้ยังมีอาการของโรคหัวใจที่น่าเป็นห่วงอีกประเภท คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่ง เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองหรืออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทัน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดเนื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจตายและภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น และหากมาถึงภายใน 3 ชั่วโมงจะยิ่งมีโอกาสรอดมากกว่า 80% แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากจะมาถึงช้ากว่า 3 ชั่วโมง
ดังนั้น สพฉ. ร่วมกับ พ.ต.หญิงพัชราภรณ์ อุ่นเตจ๊ะ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และ รศ.ดร.ศิริอร สินธุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยามหิดล จึงได้จัดทำวิจัย เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสำรวจการให้บริการผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากผู้ป่วย 540 คน 18 โรงพยาบาล ใน 5 ภูมิภาค พบว่า 72% ผู้ป่วยจะมีอาการที่บ้าน และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนและเบาหวาน
"ส่วนใหญ่ผู้ที่พบเห็นมักจะเป็นคนในครอบครัว และขณะเกิดเหตุ ผู้ป่วยกว่า 50% จะหยุดพักเพื่อรอดูอาการก่อน ขณะที่อีก 23% จะรีบไปโรงพยาบาลหากอาการไม่ทุเลาใน 5 นาที โดยในจำนวนนี้มีเพียง 4% ที่มาโดยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ โทรแจ้งสายด่วน 1669 เนื่องจากคิดว่าไปโรงพยาบาลเองจะเร็วกว่า แต่ความจริง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะ ที่มียาละลายลิ่มเลือด หรือโรงพยาบาลศูนย์ตติยภูมิโรคหัวใจ ดังนั้นหากไปผิด ก็จะยิ่งทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสรอดชีวิตก็ลดลงด้วย โดยจากสถิติ พบว่า ผู้ป่วยที่มีญาติหรือมีผู้พบเหตุอยู่ด้วย ใช้เวลาเฉลี่ยมาโรงพยาบาล 4 ชั่วโมง 38 นาที ส่วนผู้ป่วยที่อยู่คนเดียว จะใช้เวลามาโรงพยาบาลเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 25 นาที " เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
นพ.อนุชา กล่าวต่อถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันใน 3 ชั่วโมง ว่า เป็นเพราะขณะเกิดอาการ จุกแน่นหน้าอก ชาที่แขนซ้าย ก็มักจะปล่อยให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยจะรอพักให้หายเอง หรือเป็นเพราะการช่วยเหลือของผู้พบเหตุไม่เหมาะสม คือมักแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดพัก บีบนวด ให้กินยาแก้ปวด โดยไม่แจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ซึ่งตามหลักแล้วหากพบเห็นผู้ป่วยโรคหัวใจ จะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที และบอกอาการให้ชัดเจน ซึ่งจะส่งทีมมาช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นเนื่องวันแห่งความรักนี้อย่าลืมดูแล "หัวใจ" ของคุณให้แข็งแรง โดยวิธีง่ายๆ คือ 1.ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 2.หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป เพราะจะทำให้มีเกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด โดยควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมาก ๆ 3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด และยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว 4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน 5.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป และ 6. ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที