นักวิชาการ มธ. โชว์นวัตกรรม “เครื่องตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมอง แบบ Real-time” หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่า 6 ล้านคนต่อปี

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2016 11:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยนวัตกรรม "เครื่องตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองแบบทันเวลา (real-time)" นวัตกรรมเฝ้าระวังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในบุคคลที่มีความเสี่ยง รวมถึงลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย พร้อมกันนี้ด้วยขนาดของเครื่องที่กะทัดรัดและสามารถนำไปเชื่อมต่อกับเครื่อง TCD ของสถานพยาบาลทั่วไปได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถพกติดตัวไปทำการรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่ห่างไกลได้ จึงนับเป็นการขยายโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันระบบดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้งานจริง ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการสนับสนุนแพทย์เพื่อเฝ้าระวังสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจหรือขยายขนาดหลอดเลือดสมอง โดยปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 15 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคน (เฉลี่ย 1 คนใน 6 วินาที) ในขณะที่ประเทศไทย ต่อปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 250,000 คนและมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าว ถือเป็นเครื่องตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองเครื่องแรกที่พัฒนาขึ้นและสามารถใช้ได้จริงในการตรวจรักษาแบบทันเวลาโดยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 43 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 และรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้คิดค้นและพัฒนา "ระบบตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองแบบทันเวลา (real-time)"ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์เข้าด้วยกันโดยมุ่งเฝ้าระวังและยับยั้งการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในบุคคลที่มีความเสี่ยงรวมถึงลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว ด้วยนวัตกรรมการตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังมีความแม่นยำในการตรวจจับสูง โดยมีค่าความไว (sensitivity) 99% (ใน 100 คน ที่มีสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองระบบจะสามารถตรวจพบได้ 99 คน) และมีค่าความจำเพาะ (specificity) 90% (ใน 100 คน ที่ไม่มีสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมอง ระบบจะสามารถตรวจพบได้ 90 คน) สำหรับการทำงานของระบบตรวจจับสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมองจะเริ่มต้นด้วยการปล่อยสัญญาณอัลตราซาวด์ทรานส์แครเนียลดอปเพลอร์ (Transcranial Doppler Ultrasound: TCD) ผ่านกระโหลกศีรษะไปยังสมองของผู้ป่วย เพื่อตรวจจับสิ่งอุดตัน อาทิ ลิ่มเลือด ไขมัน ฯลฯ ที่กำลังไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง โดยเมื่อสัญญาณ TCD ตกกระทบกับสิ่งอุดตันหลอดเลือดแล้ว จะเกิดเสียงในช่วงคลื่นความถี่จำเพาะพร้อมแสดงผลมายังหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในลักษณะของจำนวนตัวเลขที่บ่งบอกถึงจำนวนสิ่งหลุดอุดตันที่ระบบตรวจพบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากระบบแสดงผลเป็นจำนวนตัวเลขมากแสดงว่าจำนวนสิ่งอุดตันหลอดเลือดที่กำลังไหลเวียนในหลอดเลือดสมองมีจำนวนมาก มีโอกาสที่จะไปอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนเกิดความพิการหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแต่กรณีที่ระบบแสดงผลเป็นจำนวนตัวเลขน้อยแสดงว่าจำนวนสิงอุดตันหลอดเลือดสมองที่กำลังไหลเวียนมีจำนวนน้อย จึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยขนาดของเครื่องที่กะทัดรัด จึงทำให้สามารถนำไปเชื่อมต่อกับเครื่อง TCD ของสถานพยาบาลทั่วไปได้สะดวกรวดเร็ว และทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถพกติดตัวไปทำการรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่ห่างไกลได้ จึงนับเป็นการขยายโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ คณะผู้วิจัย มีแผนต่อยอดและพัฒนาระบบดังกล่าว ให้เป็นอุปกรณ์สามารถตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองแบบหมวกครอบศีรษะทำให้ผู้ใช้งานสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติในขณะเฝ้าระวัง ทั้งนี้ เมื่อระบบตรวจพบสิ่งอุดตันหลอดเหลือดสมอง ระบบจะทำการส่งข้อความไปยังแพทย์ที่ทำการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสูงสุดในการรอดจากความพิการและเสียชีวิต ทั้งนี้ เครื่องตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองแบบทันเวลา (Real-time) ถือเป็นเครื่องตรวจจับสิ่งอุดตันหลอดเลือดสมองเครื่องแรกที่พัฒนาขึ้นและสามารถใช้ได้จริงในการตรวจรักษาแบบทันเวลาโดยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 43 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 และรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าว สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โรคหลอดเลือดสมองมีสาเหตุจาก 1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) และ 2. หลอดเลือดสมองแตกปริหรือฉีกขาด (Hemorrhagic stroke) เมื่อสมองส่วนที่ขาดเลือดไม่สามารถทำงานได้ อาจทำให้เกิดความพิการ หากมีความรุนแรงอาจเสียชีวิต โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 15 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า6 ล้านคน (เฉลี่ย 1 คนใน 6 วินาที) ในขณะที่ประเทศไทย ต่อปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 250,000 คน โดยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตและมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.. มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ