กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗-๒๕๕๘ (ครั้งที่ ๓๘) ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ และวันศุกร์ ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งในปีนี้มีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน ๓,๗๖๒ ราย แยกเป็น ระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท-ป.เอก) จำนวน ๑๓๗ ราย และระดับบัณฑิต (ป.ตรี) จำนวน ๓,๖๒๔ ราย
ในการนี้ สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้มีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๖ ราย มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๒ ราย ให้แก่ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และ ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่นเพื่อเข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น จำนวน ๖ ราย ดังนี้
ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๖ ราย
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
การศึกษา ปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง สหรัฐอเมริกา, หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น เปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่น และหลักสูตรนักปกครองชั้นสูง จากวิทยาลัยมหาดไทย
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ดี ได้รับรางวัล "คนดี ศรีสยาม" พุทธศักราช ๒๕๔๙ จากสหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ, ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์
"สังข์เงิน" ครั้งที่ ๒๓ ประจำปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ได้รับรางวัล "ครุฑทองคำ"ผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลเกียรติยศ
โล่เชิดชูเกียรติ โดยยกย่องให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี๒๕๕๕ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
นายธรรมยศ ศรีช่วย
วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานทดแทน
การศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ไฟฟ้ากำลัง) วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
นายธรรมยศ ศรีช่วย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอและผลักดันนโยบายและแผนการบริหารจัดการ และการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย เป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ด้านการใช้เทคโนโลยีพลังงานชีวมวล เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานลม การจัดการก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และยังเป็นผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์แก่สังคมนานัปการ อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและกิจกรรมโครงการด้านการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง
นายธรรมยศ ศรีช่วย เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม อุทิศตนทำคุณประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานทดแทน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
รองศาสตราจารย์ชัยยศ สันติวงษ์
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
การศึกษา ปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการเงิน สถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปัจจุบัน เป็นข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ
รองศาสตราจารย์ชัยยศ สันติวงษ์ มีผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจซึ่งร่วมศึกษาค้นคว้ากับนักวิชาการอื่น ๆ หลายท่าน อาทิ การเขียนตำราทางวิชาการเกี่ยวกับการเงินธุรกิจ การวิเคราะห์การเงิน พฤติกรรมบุคคลในองค์กร กลยุทธ์ธุรกิจกับระบบสารสนเทศ เป็นต้น ท่านเป็นหัวหน้านักวิจัยโครงการวิจัยแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรที่เหมาะสมและเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ และเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
รองศาสตราจารย์ชัยยศ สันติวงษ์ เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่ คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม จึงนับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็น เกียรติประวัติสืบไป
นายประวิทย์ บุญมี
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชสวน
การศึกษา ปริญญาตรี สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น ๔๗)
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรสำนักงานประสานงาน
โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผู้อำนวยการ
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา
นายประวิทย์ บุญมี มีประวัติการทำงานที่แสดงถึงความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการบริหารที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านพืช ในด้านวิชาการนั้นได้มีผลงานดีเด่นซึ่งแสดงถึงความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดี ได้สร้างผลงานทางวิชาการในสาขาวิชาชีพจนเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การออกแบบและจัดตกแต่งสวนประกวดในงาน "Expo 90" ประเทศญี่ปุ่น จัดสถานที่งาน "Thai Food Fair" ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ออกแบบและจัดตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับในเขตราชวัตรชั้นนอกและชั้นใน งานพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร "งานคิดถึงสมเด็จย่า" ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชน อย่างต่อเนื่อง อาทิการจัดตกแต่งสถานที่ที่ประทับและรบเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์และสถานที่ราชการหลายแห่ง การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับโครงการพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนาในส่วนที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงการประสบความสำเร็จในสาขาวิชาชีพอย่างยอดเยี่ยม อาทิ ได้รับรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการออกแบบและจัดสวนประเภทสวนกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยและสวนกล้วยไม้ทั่วไป ในงานลานนาพฤกษาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๙ - ๒๕๓๒ ได้รับรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในการออกแบบและจัดสวน "งานต้นไม้แห่งชาติ" พุทธมณฑล เป็นต้น
นายประวิทย์ บุญมี เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น จนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ จึงทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งได้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการนับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชสวน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
นายโรบิน พี.แมคอินทอช จูเนียร์
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
การศึกษา ปริญญาโท สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน รองผู้จัดการอาวุโสด้านวิจัย พ่อ-แม่ พันธุ์กุ้งทะเล ด้านวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (สัตว์น้ำ) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ มีประวัติการทำงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ด้านผลงานอาชีพแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี ได้เป็นผู้ร่วมพัฒนาธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) ให้มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเป็นผู้ก่อตั้งพันธมิตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก (Global Aquaculture Alliance-GAA) รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Society for Applied Phycology โดยได้ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นในหน้าที่และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รับผิดชอบด้านการวิจัยพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล และสัตว์น้ำต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำของประเทศไทย รวมทั้งประเทศกลุ่มผู้ผลิตกุ้งในภูมิภาคเอเชียและโลก ได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับงานวิชาการและสถานการณ์ การเพาะเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ
นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป และเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
นายทองย้อย บัวศรี
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การศึกษา เทคนิคเกษตร วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่(แม่โจ้), (แม่โจ้รุ่น ๒๕)
ระดับปริญญาตรี เกษตรศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปัจจุบัน อดีตผู้อำนวยการสถานี (ระดับเขต) สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดตาก, ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
นายทองย้อย บัวศรี เป็นผู้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงวิชาการด้านการเกษตร เป็นผู้แทนกรมพัฒนาที่ดินในการริเริ่มการจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และร่วมกับกองทัพบกในฐานะผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการเกษตรเพื่อความมั่นคง กองทัพภาคที่ ๓ มีผลงานวิชาการดีเด่น อาทิ การรวบรวมข้อมูลด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเกษตรทฤษฎีใหม่ ศึกษาวิจัยและพัฒนาชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งการเก็บรักษา และการนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้เขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือเสรีภาพ ฉบับที่ ๑๒๓ และหนังสือของพรีเวิล ของโลกเสรี อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าแม่โจ้
นายทองย้อย บัวศรี เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพอันเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชนแก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญแก่สถาบันเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาชาวิชาการใช้ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
ผู้ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๒ ราย
นายขุนศรี ทองย้อย
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่
การศึกษา ปริญญาตรี สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้ ๕๑),ผ่านการอบรมหลักสูตร
พัฒนาผู้บริหาร (Mini MBA) คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
นายขุนศรี ทองย้อย ได้นำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และก้าวหน้าในหน้าที่การงานในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้อุทิศเวลาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยดำรงตำแหน่งที่สำคัญซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษา ในด้านการส่งเสริมการเกษตร อาทิ ส่งเสริมการปลูกยางพาราโดยใช้วิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์กล้ายางพารา รวมถึงส่งเสริมให้มีระบบบริการและการบริการด้านตลาดให้แก่เกษตรกร, รณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการปลูกข้าวโดยการใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี และใช้เทคโนโลยีช่วยในการการปักดำแทนการหว่าน รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไก่แทนปุ๋ยเคมี อีกทั้งยังได้สนองงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พัฒนาโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการชั่งหัวมัน เป็นผู้ดำเนินการศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว-ปลา-ปาล์ม จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรตามแนวพระราชดำริ ยังได้สนับสนุนโครงการศูนย์สาธิตของมูลนิธิชัยพัฒนาภายใต้พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายขุนศรี ทองย้อย เป็นผู้ประสบความสำเร็จในงานวิชาชีพอย่างโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ โดยได้รับการยอมรับจากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีผลงานทางด้านการพัฒนา และการสนองงานในพระองค์ นำมาซึ่งความมั่นคงที่ยั่งยืน สามารถ ครองตน ครองคน และครองงานได้อย่างยอดเยี่ยม ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความริเริ่มด้านการเกษตรจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
นายสุนทร หอมขจร
รัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์
การศึกษา ระดับอาชีวศึกษา แผนกเกษตรกรรม วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น ๒๐)
ปัจจุบัน อดีตรองผู้จัดการสำนักงานยาสูบแพร่ ระดับ ๙, อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
นายสุนทร หอมขจร เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป ได้สร้างผลงานดีเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ได้รับรางวัลโล่พระราชทาน "ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น" เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ อีกทั้งวุฒิบัตรและเกียรติบัตรต่างๆ จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง สำนักงานประถมศึกษาจังหวัดแพร่ โรงเรียนอนุบาลแพร่ หน่วยอาสาบรรเทาสาธารณภัยกรมตำรวจ เกียรติบัตรจากจังหวัดแพร่และองค์กรอื่น ๆ ในฐานะผู้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองและประเทศชาติ และยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อันสำคัญให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ มีส่วนให้การสนับสนุนและริเริ่มร่วมกับคณาจารย์และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย แม่โจ้ ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตแม่โจ้สัญจรสู่แพร่ เป็นการขยายพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปสู่จังหวัดแพร่ รวมถึงร่วมบุกเบิก ประสานงานกับหน่วยงานราชการตลอดจนประชาชนในจังหวัดแพร่ เรียกร้องให้มีการจัดสร้างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ขึ้นที่จังหวัดแพร่
ผู้ได้รับโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘ จำนวน ๖ ราย
นายสิทธิ จุลกทัพพะ
การศึกษา ปว.ส. วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) แม่โจ้ รุ่นที่ ๒๐, ปริญญาตรี สาขาเกษตรศาสตร์และการประมง วิทยาลัยครูพระนคร และประกาศนียบัตรชั้นสูงรุ่นที่ ๑ ของกรมประมง
ปัจจุบัน อดีตหัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์การประมงและหัวหน้าฝ่ายประสานงานประมงส่วนภูมิภาค กรมประมง
นายสิทธิ จุลกทัพพะ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ อาทิ สำรวจประชากรสัตว์ในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแหล่งน้ำ ร่วมกับนักวิชาการของกรมประมง,ร่วมศึกษาการเพาะปลาโดยวิธีผสมเทียม โดยฉีดฮอร์โมน เป็นผลสำเร็จ นอกจากนั้น ได้ฝึก และแนะนำผู้เลี้ยงสัตว์น้ำให้สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี สร้างรายได้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้งยังแนะนำส่งเสริมให้ราษฎรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ใช้ประโยชน์จากการทำเกษตรกรรมให้เต็มที่และคุ้มค่าที่สุด เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าวแห่งแรกที่จังหวัดขอนแก่น นอกจากนั้น ท่านได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน อาทิ เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ - โทรทัศน์ วารสารการประมง เรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัญหา อุปสรรค และวิธีพัฒนาแก้ไข ให้ประชาชนได้รับรู้ ท่านได้รับโล่รางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจากจังหวัด กรมประมง และทำเนียบรัฐบาล
นายสิทธิ จุลกทัพพะ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะการเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพัฒนาแหล่งจับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป จึงนับว่า เป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายวุฒิ ชพานนท์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๒๒
การศึกษา ปว.ส. เกษตรกรรม วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้, ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปัจจุบัน อดีตหัวหน้าสวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์ สำนักนายกรัฐมนตรี ,ที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้
นายวุฒิ ชพานนท์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และได้ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีโครงการ "เร่งรัดพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร" ต่อมาเป็นที่ปรึกษากรมป่าไม้ "โครงการอพยพสัตว์ป่า เขื่อนเชี่ยวหลาน" จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านยังมีผลงานวิชาการและผลงานเผยแพร่ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนหลายชิ้น อาทิ เรื่อง "โครงการอนุรักษ์นกกะเรียนพันธุ์ไทย SarusCran" ซึ่งขณะนั้นสูญพันธุ์จากประเทศไทยแล้ว แต่ปัจจุบันขยายผลเป็นศูนย์นกกะเรียน จนคืนสู่ธรรมชาติได้หลายรุ่น
เป็นผู้ริเริ่มจัดงาน "ลานนาพฤกษาชาติขึ้นในสวนสัตว์เชียงใหม่" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในฤดูฝน ได้ทำการบุกเบิกงานที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้สำรวจและนำเสนอโครงการขยายพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งดำเนินการด้วยตนเองโดยเป็นผู้บังคับบัญชาคอยอำนวยความสะดวก การดำเนินการใช้เวลานาน ๖ ปี ได้อุทิศตนเพื่อพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตลอดมา โดยเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และภาควิชาพืชสวนประดับ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นกรรมการไตรภาคีงานพัฒนากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นกรรมการจัดทำประวัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นผู้จัดการทีมกีฬายิงปืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกิจกรรมให้ความช่วยเหลืองานภารกิจต่าง ๆ ของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้มาตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปี และยังเป็นที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าหลายสมัยติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน
นายวุฒิ ชพานนท์ ได้อุทิศตน เป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและสร้างผลงานเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน อีกทั้งอุทิศตนแก่สถาบันการศึกษาอย่างอเนกอนันต์ตลอดมา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายเขมชาติ สุวรรณวัฒนา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๓๓
การศึกษา ปว.ส. สาขาวิชาพืชกรรม จากวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้),ปริญญาตรี สาขาเกษตรกรรมและสัตวบาล (B.S.A.) จาก De La Salle Araneta University ประเทศฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน ข้าราชการบำนาญ, เจ้าของกิจการร้านอาหาร "สวนชื่นสุข"
นายเขมชาติ สุวรรณวัฒนา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในผลงานอาชีพ และผลงานวิชาการ อาทิ เป็นผู้ควบคุมโครงการวิจัยแปลงยางสากล(International exchange clone trial) โดยเป็นผู้ควบคุมตั้งแต่การเริ่มปลูกจนกระทั่งสามารถกรีดได้ ซึ่งเป็นแปลงยางแปลงแรกของประเทศไทย ที่เปิดกรีดได้ในขณะที่ต้นยางมีอายุเพียง ๕ ปี ๓ เดือน อีกทั้งยังเป็นแปลงยางดีเด่นและสวยงาม เป็นที่ศึกษาดูงานของสมาชิกยางนานาชาติ (International Rubber Association: IRA) นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับยางพารามากกว่า ๑๐ เรื่อง ท่านเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยาลัยเกษตรชุมพรและเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับยางพาราให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นผู้สนับสนุนและทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ อาทิ มอบที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์ ร่วมกับชมรมศิษย์เก่า แม่โจ้ อีกทั้ง ยังเป็นประธาน ผู้สนับสนุนงาน และกรรมการในการจัดงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ เป็นผู้จัดสวนหย่อมและภูมิทัศน์ให้แก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ อีกทั้งเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร "สวนชื่นสุข" ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในจังหวัดสงขลา อาทิ รางวัลชนะเลิศ "เมนูสุขภาพ" ได้รับรางวัลร้านอาหารระดับ ๕ ดาว รางวัล "สุดยอดร้านอาหารของจังหวัดสงขลา" โดยผ่านมาตรฐาน Clean Food Good Taste รางวัลสุดยอดห้องสุขาแห่งปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ของจังหวัดสงขลา รวมถึงได้รับเกียรติบัตรจากสมาคมภัตตาคารไทย ด้านบริหารร้านอาหารสู่สากล และเกียรติบัตร "ร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย" นอกจากนี้ ร้านอาหาร "สวนชื่นสุข" ยังเป็นที่สำหรับต้อนรับผู้นำของประเทศ
นายเขมชาติ สุวรรณวัฒนา เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สาธารณชนและมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายโสภณ สุรโยธี ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๓๕
การศึกษา ปริญญาตรี สาขาพืชสวนประดับ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้,
ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยแถลงพิทยาคม, ที่ปรึกษางานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมาร (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง
นายโสภณ สุรโยธี เป็นผู้ประสบความสำเร็จอาชีพ ตลอดชีวิตของการเป็นครูได้ทำหน้าที่เป็นครูผู้ให้ และนอกจากงานประจำแล้วยังมีงานพิเศษซึ่งนับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากสถาบันไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง และใช้ความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนาชุมชน สังคม โรงเรียน และวัด โดยเฉพาะงานภูมิทัศน์และสวนหย่อม อาทิเป็นผู้จัดภูมิทัศน์พระพุทธบรมมงคลธาตุจักราชเจดีย์ ให้แก่วัดจักราช ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๗ ถึงปัจจุบัน, ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประสานงานสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน อพ.สธ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ท่านได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติ รวมถึงได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ อาทิ ได้รับโล่ "ผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่น" ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๐, ได้รับรางวัลครูอาวุโสประจำการดีเด่น ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๕๓ ได้รับเกียรติบัตรเป็นศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ ในงานครบรอบ ๗๕ ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ช่วยเหลือสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการปรับภูมิทัศน์บริเวณหอพัก สวนสุขภาพศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วยดีเสมอมา
นายโสภณ สุรโยธี เป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและสร้างผลงานเผยแพร่ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างศิษย์เก่าแม่โจ้และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อีกทั้งอุทิศตนแก่สถาบันการศึกษาตลอดมา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป จึงนับว่า เป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ดร.ดำรงค์ ปินทะนา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๔๗
การศึกษา ปริญญาโท สาขาส่งเสริมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
ปริญญาเอก สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโครงการการจัดการลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมสะเมิง(Samoeng Participatory Watershed Management Project: SAMPART-WMP) และผู้จัดการ สถานีวิจัยเกษตรป่าไม้แม่เหียะ(Mae Hie Agroforestry Research Station: MAHAF )
ดร.ดำรงค์ ปินทะนา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการต่อสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษ โดยร่วมสอนกระบวนวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา และปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาและทำงานวิจัย อาทิ โครงการวิจัยการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคเหนือของประเทศไทย โครงการวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติ ด้านการรับรองป่าไม้และการตรวจสอบเพื่อเป็นเครื่องมือ ในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมาย และธรรมมาภิบาลด้านป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่านได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อีกหลายด้าน อาทิ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนห้วยน้ำเย็น(แม่โจ้พัฒนา) ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง
โครงการหลวงแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๐-๒๕๓๓ และได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ รวม ๖ สมัย
ดร.ดำรงค์ ปินทะนา เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ และประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายเฉลิม บุญประเชิญ ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่น ๔๘
การศึกษา ปริญญาตรี สาขาส่งเสริมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
ปริญญาโท สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ จำกัด
นายเฉลิม บุญประเชิญ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานตามลำดับ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป อาทิ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศได้ รวมถึงขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก ได้เผยแพร่เทคนิค ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเกษตรครบวงจร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยึดหลักผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ คุณภาพดี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นายเฉลิม บุญประเชิญ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์ต่อสังคม และให้ความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วยดีตลอดมา เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป นับเป็นผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๑๔ ท่าน จะเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ในวันที่ ๑๘-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และทางมหาวิทยาลัยจะได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม ๑๐๑ อาคารศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้