กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--IR network
บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งใน-ต่างประเทศตามแผน เป้า 150 เมกะวัตต์ ก่อนเข็น "อิสเทิร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป" (EP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี"59 "ยุทธ ชินสุภัคกุล"มั่นใจทุกอย่างเป็นไปตามแผน แย้มมีดีลในมือเพียบที่ใกล้ได้ข้อสรุป พร้อมลุยธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร คาดกำไรปีนี้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% บอร์ดไฟเขียว EP เพิ่มทุน 750 ล้านบาท เปิดทางพันธมิตรเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% ลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย-เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2559 ว่า ตั้งเป้าหมายกำไรเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% เทียบปีก่อน โดยบริษัทฯยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีกำลังการผลิตครบ 150 เมกะวัตต์ ก่อนนำบริษัท อีสเทิร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) (เดิมคือ บริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามแผน
ก่อนหน้านี้ ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 25.325 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 2,472.75 ล้านบาท ผ่าน บริษัท เอ็ปโก้ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (EPCOE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยบริษัท เอ็ปโก้ กรีน พาวเวอร์ พลัส จำกัด (EPCOG) และบริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด (Bor Ploi) ตามลำดับ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเป็น 66 เมกะวัตต์
"ผมมั่นใจว่าภายในปีนี้จะสามารถนำบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามแผนอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อให้มีกำลังการผลิตครบ 150 เมกะวัตต์ ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ"นายยุทธกล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ ยังมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อยของ บริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด (BP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยบริษัทย่อยทางอ้อมดังกล่าวจะจัดตั้งภายใต้ชื่อ บริษัท เอ็ปโก้ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้ EP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 100% เพิ่มทุนจดทะเบียน 3 พันล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนหุ้นหลังเพิ่มทุน และจัดสรรหุ้นให้แก่ PP ที่ราคาหุ้นละ 0.25 บาท
โดย PP ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ประสบการณ์ในธุรกิจปัจจุบันของบริษัท หรือมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบัน เพื่อให้มีส่วนช่วยส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักของบริษัทด้านพลังงาน ให้เติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงเป็นบุคคลที่มีแหล่งเงินทุน สามารถลงทุนกับบริษัทได้ และไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกับบริษัท กรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท
สำหรับราคาที่เสนอขายหุ้นดังกล่าว เป็นราคาที่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์ต่อ EP และต่อบริษัทสูงสุด ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าตาบัญชีของ EP ตามงบการเงิน ณ วันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งเท่ากับ 0.10 บาท/หุ้น และสูงกว่าราคายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ โดยวิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด อยู่ระหว่าง 0.15-0.17 บาท/หุ้น
EP มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันและอนาคต รวมจำนวน 10 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้บริ ษัท อาร์ พีวี พลังงาน จำกัด (โครงการ RPV) ขนาด 5 เมกะวัตต์ ในอ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้บริษัท เจเคอาร์ พลังงาน จำกัด (โครงการ JKR) ขนาด 5 เมกะวัตต์ ในอ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี , โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้บริษัท ลพบุรี โซล่า จำกัด (โครงการ LOPBURI) ขนาด 5 เมกะวัตต์ ในอ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้บริษัท เอ็ปโก กรีน พาวเวอร์ พลัส จำกัด (โครงการ Rooftop) จำนวน 8 แห่ง ขนาดรวม 1.5 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โครงการคูริฮาร่า (โครงการ Kurihara) ขนาด 23 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โครงการเจ็นบิ (โครงการ Genbi) ขนาด 10 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โครงการเกียวโต (โครงการ Kyoto) ขนาด 9.99 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โครงการชิราคาตะ 1-3 (โครงการ Shirakata 1-3) รวม 5.33 เมกะวัตต์
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทจากการขายหุ้นเพิ่มทุนของ EP ให้กับ PP ดังกล่าวนั้น จะเป็นแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ธนาคารของ EP และส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ,ลดภาระการหาแหล่งเงินทุนของบริษัท เนื่องจากการขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น เป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ถึงประมาณ 50% รวมถึงเปิดโอกาสให้ EP มีผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริม และพัฒนาธุรกิจของบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง และเกิดประโยชน์ต่อบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังอนุมัติให้เพิ่มวงเงินการออกและเสนอขายตั๋วแลกเงิน เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป จากเดิมมูลค่าคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เป็นมูลค่าคงค้างไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง