กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปลุกสังคมไทยสร้างวิสัยทัศน์การเรียนรู้ใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรม Copy & Paste ในกระบวนการเรียนรู้ให้หันมาใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ และสร้างกลุ่มผู้เริ่มประกอบธุรกิจใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งใหญ่ในระดับเอเชีย ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ ไฮไลท์ว่าด้วยการจัดการความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม งานเดียวที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศหลากหลายธุรกิจ เพื่อร่วมปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงศักยภาพการพัฒนาธุรกิจได้อย่างแท้จริง
วานนี้ (11 กุมภาพันธ์) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยสถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (IKI-SEA) จัดงานแถลงข่าว "Creative Bangkok: ปลดล็อคพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์" ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อประกาศตัวการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งใหญ่ในระดับเอเชีย The Asian Symposium on Creativity & Innovation Management (ASCIM) งานนี้ได้รับเกียรติจาก มร.ฟิลิป คาลเวิร์ด เอกอัครราชทูตประเทศแคนาดาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าว พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ ได้แก่ คุณเมฆ - เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำของไทยที่จะมาไขความลับความสำเร็จการคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาธุรกิจ, มร.ซอว์เยอร์ เจ ลาห์ และคุณอดิศร ศุภวัฒนกุล ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท TEAK Research จำกัด เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมการทำวิจัยเพื่อเข้าถึงความคิด จิตใจและความต้องการที่แท้จริงของตลาดและผู้บริโภค
อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ระบบการเรียนรู้ในสังคมไทยต้องยุติพฤติกรรมคัดลอก-เลียนแบบ และหันมาใช้ศักยภาพทางความคิดที่มีทำให้เกิดนวัตกรรมเป็นของตนเอง โดยย้ำว่าสิ่งสำคัญสำหรับแวดวงการศึกษาในทุกระดับชั้นของไทยไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์และนักเรียน นิสิต นักศึกษา คือ ความกล้าที่จะปลดล็อคพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ความคิดดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเองได้ทำงานแสดงพลังออกมาเป็นผลงานในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป เศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและสากลขับเคลื่อนได้ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมตลอดจนกลุ่มสตาร์ทอัพ แนวทางการพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงตอบรับความต้องการของสังคมธุรกิจในยุคปัจจุบันได้ตรงที่สุด ด้วยการพัฒนาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยกรุงเทพให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และมีความคิดแบบเจ้าของ (entrepreneurial spirit) รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในทุกระดับทุกสาขาวิชาได้มุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิด โมเดลธุรกิจ กระบวนการจัดการ การบริการและผลิตภัณฑ์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาความร่วมมือด้านการเรียนรู้กับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทำให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น สถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม (IKI-SEA) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) ผลลัพธ์ที่ได้คือ นวัตกรรมความรู้ในรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการ
สอนในหลายระดับ มีทั้งหลักสูตรอบรมระยะสั้น และหลักสูตรระดับปริญญาที่มีคุณภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาความสามารถบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้พร้อมสร้างสรรค์และบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อผลักดันความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
ภายใต้แผนดำเนินงาน Creative Bangkok (ASCIM) ประจำปี 2559 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้แสดงให้เห็นความร่วมมืออย่างจริงจังกับพันธมิตรทางการศึกษาในระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกครั้ง โดยความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานและสถาบันการศึกษาจากประเทศแคนาดา แหล่งบ่มเพาะสำคัญทางด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมระดับโลก มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งสำคัญในระดับเอเชีย The Asian Symposium on Creativity & Innovation Management (ASCIM) มีหัวข้อหลักของการประชุมคือ "จากการเลียนแบบสู่การสร้างนวัตกรรม" (From Imitation To Innovation) งานเดียวที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากกว่า 50 ท่านจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ Index Creative Village, IKEA, Google, Cirque du Soleil , SCG , Mosaic-HEC Montreal และ NASA เป็นต้น
ภายในงาน มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ตรงที่รวบรวมแนวทางเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน กิจกรรมวอล์กช้อป (walkshop) นอกสถานที่เปิดโลกทัศน์และมุมมองอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งเวิร์กช้อป(workshop) มากถึง 13 กิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ค้นหาความคิด และการลงมือปฏิบัติ ให้คุณได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่กับการเรียนรู้เทคนิคโนฮาวการใช้ความรู้สร้างนวัตกรรมทั้งด้านความคิดและการพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ เป็นพลังผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยตลอด 6 วันของกิจกรรม มีตัวแทนจากบริษัทชั้นนำระดับโลกร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันข้อมูลประสบการณ์ เคล็ดลับและวิธีการอย่างชัดเจนว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถยกระดับความสามารถในการสร้างสรรค์ และจัดการนวัตกรรมโดยใช้ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม แรงงานคน กระบวนการทำงานและเทคโนโลยีต่างๆ จนกลายมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในสาขาหรือสายงานนั้นๆ ได้ในที่สุด
ASCIM เป็นงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียมและบราซิล และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอาเซียนที่ประเทศไทยซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 องค์กรและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงานประชุม ASCIM สามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.creativebangkok.org หรือwww.ascim2016 e-mail: ascim.creabkk@gmail.com, https://www.facebook.com/creabkk