กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กทม.
นายธีระชัย เธียรสรรชัย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. กล่าวว่า ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเรื่องถังขยะและถุงขยะว่า ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครเรื่องการเก็บขนและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยได้ผ่านสภากรุงเทพมหานครแล้ว ซึ่งสาระสำคัญของข้อบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ “เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ใด ๆ ต้องจัดให้มีที่รองรับสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยภายในอาคารหรือสถานที่นั้นอย่างเพียงพอและถูกสุขลักษณะ” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้แนะนำตัวอย่างถังขยะ 2 ขนาด คือ 40 ลิตร และ 60 ลิตร เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้ โดยให้มีถุงขยะสวมรองไว้ด้านใน เมื่อจะทิ้งขยะก็รวบถุงออกไปทิ้ง นอกจากนี้ผู้ว่าฯกทม. ยังได้แนะนำว่า ในห้องครัวควรมีกระป๋องใบเล็ก ๆ ใส่ถุงพลาสติกที่เคยใส่สินค้า อาหาร รองไว้ด้านใน สำหรับใช้ใส่ขยะจากห้องครัว ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ เมื่อขยะเต็มหรือเสร็จสิ้นการใช้วันต่อวันให้มัดปากถุง นำไปทิ้งรวมในถังขนาด 40 ลิตร หรือ 60 ลิตรที่แนะนำให้ใช้ดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดกลิ่นเหม็นจากขยะเศษอาหาร อย่างไรก็ดีภาชนะที่ใส่ขยะไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นตัวอย่างที่แนะนำ คือ อาจเป็นภาชนะอื่นที่มีฝาครอบมิดชิดก็ได้ ส่วนถุงขยะหากบ้านเรือนใดจ่ายค่าธรรมเนียมขยะตามกฎหมายแล้ว จะสามารถซื้อได้ในราคาถูก โดยกรุงเทพมหานครจะเชิญชวนบริษัทโฆษณาสินค้าสนับสนุนการผลิตถังขยะและถุงขยะ เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาที่ถูก ทั้งนี้ในเรื่องราคาจำหน่ายจะได้หาข้อสรุปต่อไป
ส่วนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งมีปัญหาขยะมูลฝอยจากการค้าขายบนทางเท้าจำนวนมากนั้น ผู้ว่าฯกทม.ได้แนะนำโครงเหล็กที่แขวนถุงขยะเป็นแบบพับเก็บได้เพื่อความสะดวกในการพกพา ซึ่งที่แขวนถุงนี้ก็เปิดให้ผู้สนใจโฆษณาสินค้าสนับสนุนค่าผลิตแจกให้แก่ผู้ค้าหาบเร่ได้ใช้ฟรีด้วย
ในส่วนค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บขยะทดแทนรายได้ที่เคยได้จากการขายขยะรีไซเคิลประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อคนนั้น ก็จะให้ได้ค่าตอบแทนจากการไปจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยมีส่วนแบ่งให้ 5 % และค่าตอบแทนเป็นเบี้ยขยันอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วจะได้ประมาณเดือนละ 4,000 บาท/คน แต่ทั้งนี้ต้องกำชับเจ้าหน้าที่คนงานมิให้เลือกขยะ ซึ่งบางครั้งกีดขวางการจราจร ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ และเสียเวลาในการปฏิบัติงาน
รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวต่อไปว่า การขายถุงขายถังขยะนั้นเป็นเพียงทางเลือกที่ได้แนะนำแก่ประชาชนเท่านั้น ประชาชนจะไม่ใช้ถังแบบนี้ก็ได้ แต่ขอให้ใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และใส่ในถุง ที่สำคัญ กทม.มิได้นำรายได้จากการขายถุงและถังไปแจกแก่พนักงานเดือนละ 4,000 บาท ดังที่บางท่านเข้าใจ อย่างไรก็ตามการเก็บค่าธรรมเนียมจะไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชน เพราะเป็นการนำเงินที่ประชาชนเคยจ่ายนอกระบบให้เข้าสู่ระบบโดยถูกต้อง--จบ--
-นห-