กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. จัดแข่งขันขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เน้นพัฒนาทักษะคนขับรถพยาบาลให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัย // พบปีที่ผ่านมามีรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 57 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 12 คน ลดลงจากปี 2557 และตลอดสิบปีมีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน ขณะที่ เลขาธิการ สพฉ. เร่งเดินหน้าติดจีพีเอสควบคุมความเร็วรถพยาบาล และเคร่งครัดมาตรฐานรถพยาบาลให้เข้มข้นขึ้น
"รถพยาบาลฉุกเฉิน" ควรเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับ "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" แต่ที่ผ่านมามีหลายครั้ง ที่รถพยาบาลทำให้เกิดความสูญเสียเอง ทั้งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน และบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน
โดยข้อมูลการเฝ้าระวังรถบริการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีรถพยาบาลในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและรถพยาบาลในระบบส่งต่อประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 57 ครั้ง แบ่งเป็นอุบัติเหตุในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 20 ครั้ง รองลงมาคือภาคเหนือ 14 ครั้ง และภาคกลาง 11 ครั้ง ภาคใต้ 7 ครั้ง ภาคตะวันออก 3 ครั้ง และภาคตะวันตก 2 ครั้ง ตามลำดับ ส่งผลทำให้มีผู้บาดเจ็บ 98 คน และเสียชีวิต 12 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน นอกจากนี้หากนับเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา พบว่า ได้รับบาดเจ็บถึง 4,315 ราย พิการ 12 ราย และเสียชีวิตถึง 21 ราย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. ปัจจัยด้านบุคคล พนักงานบางคนไม่เคยผ่านการอบรม ขับรถเร็ว หรือคนที่นั่งในรถไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 2.ปัจจัยด้านพาหนะ คือ รถพยาบาลส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานมานาน และบางคันไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง 3.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและกายภาพ อาทิ สภาพถนน ทางขึ้นเขา หรือไม่มีระยะหน่วงระหว่างการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจร และ 4. ปัจจัยด้านสังคม และ ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสีย สพฉ. จึงจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับพนักงานขับรถพยาบาลให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎ และยังจัดการแข่งขัน การขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติขึ้นด้วย โดยในปีนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์สอนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ กรมการขนส่งทางบก อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นการกระตุ้นและพัฒนาทักษะ โดยมีผู้เข้าแข่งขันเป็นตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกจากเขตบริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และสมาคม รวมทั้งสิ้น 16 ทีม ซึ่งจะต้องผ่านการทดสอบทั้งหมด 16 ฐาน อาทิ ฐานการเตรียมความพร้อมก่อนออกรถพยาบาล ฐานการขับรถพยาบาลในทางลาดชัน ฐานการทำความสะอาดรถพยาบาล รวมถึงจะมีการทดสอบกฎจราจร การใช้สัญญาณ และการทดสอบสุขภาพจิตด้วย เพื่อให้การขับรถพยาบาลนั้นมีความปลอดภัย และลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถพยาบาลลดลง
"อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ผู้ขับขี่เองที่จะต้องปฏิบัติตามกฎ แม้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบกมาตรา 75 จะมีข้ออนุโลมและยกเว้นให้สำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินก็ตาม แต่หลักที่ควรปฏิบัติจริงๆ คือต้องขับรถตามอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด และเมื่อขับผ่านทางแยกจะต้องไม่ใช้ความเร็วเกิน ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงระดับใด และหากจำเป็นต้องขับรถย้อนศร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้หากขับรถผ่านสัญญาณจราจรที่กำหนดให้หยุด สามารถขับผ่านได้ แต่ต้องลดความเร็ว หรือต้องพิจารณาให้มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุก็ถือว่ามีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเช่นกัน และในขณะจอดรถเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ จะต้องเปิดไฟฉุกเฉิน วางกรวยยางจราจรเป็นระยะ ห่างจากจุดเกิดเหตุ 50 เมตร และบุคลากรทุกคนที่ออกปฏิบัติงานต้องแต่งตัวด้วยชุดสะท้อนแสง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้อน" นพ.อนุชากล่าว
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า นอกจากจะจัดอบรมบุคคลากรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว สพฉ. ยังมีการพัฒนาระบบเพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การติดจีพีเอสตรวจวัดความเร็วกับรถพยาบาล คือ เมื่อรถพยาบาลคันใด ขับในอัตราเร็วเกินกำหนด 90 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง จะมีสัญญาณเตือนมายัง สพฉ. ซึ่งมีศูนย์ควบคุมอยู่ จากนั้นจะมีการแจ้งเตือน เพื่อให้ขับขี่ระมัดระวังมากขึ้น
นอกจากนี้จะเคร่งครัดเรื่องมาตรฐานรถพยาบาลมากขึ้น คือ จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยครบถ้วน ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึง หรือเข็มขัดนิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องหยุดรถกระทันหัน โดยมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ป่วย 5 จุด คือ ไหล่ 2 จุด ลำตัว 3 จุด ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ที่นั่งเก้าอี้หันข้าง ต้องมีเข็มขัดนิรภัยคาดเอว และเก้าอี้หันหน้า จะต้องมีเข็มขัดนิรภัยแบบคาด 3 จุด และที่สำคัญ รถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานเป็นประจำทุกปีด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน