กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--โฟร์ พี.แอดส์ (96)
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน จัดทำ "เมนูสุขภาพ " เป็น 5 มาตรการสำคัญ ช่วยลดโรค เพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย ป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงที่พบบ่อยในวัยรุ่นยุคปัจจุบันได้แก่ ความรัก เพศ เกม การพนัน ความรุนแรง และสารเสพติด ซึ่ง 5 เมนูสุขภาพดังกล่าว ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น การดูแลสุขภาพวัยรุ่นในสถานศึกษา การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่น และการสื่อสารของพ่อแม่กับวัยรุ่น โดยจะมีทีม Teen manager หรือทีมนักจัดการสุขภาพวัยรุ่น เช่น พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุขครอบคลุมอยู่ทุกจังหวัด เป็นผู้ปรุงเมนูสุขภาพทั้ง 5 ตามวัตถุดิบหรือสภาพปัญหาของวัยรุ่นในแต่ละจังหวัด
เมนูแรก การบังคับใช้กฎหมาย คือการจัดทำ "กฎหมายพร้อมใช้ ไม่ยากอย่างที่คิด" เพื่อ เป็นคู่มือในการดำเนินการดูแลสุขภาพวัยรุ่นแบบบูรณาการ อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 แนวทางปฏิบัติการรับบริการวิธีคุมกำเนิดชนิดต่างๆ ที่สถานบริการสาธารณสุข เป็นต้น
เมนูที่สอง การบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นได้แก่การสนับสนุนการให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี การจัดตั้งคลินิกวัยรุ่น เน้นการจัดบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน การให้คำปรึกษาเพื่อคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ลดการตั้งครรภ์ซ้ำ การแจกจ่ายถุงยางอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ฯลฯ
เมนูที่สาม การดูแลสุขภาพวัยรุ่นในสถานศึกษา คือ การจัดระบบให้การช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขร่วมพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและรับส่งต่อกรณีวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพตามระบบบริการสุขภาพ
เมนูที่สี่ การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่น คือ การส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่เปิดกว้างสำหรับวัยรุ่นให้พวกเขาได้มีโอกาส ร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ตามศักยภาพ ตลอดจน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนระบบสุขภาพระดับอำเภอและได้รับการ รับรองมาตรฐานอำเภออนามัยเจริญพันธุ์จากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า ผ่านการรับรอง 878 แห่ง ในปี 2561
เมนูที่ห้า การสื่อสารของพ่อแม่กับวัยรุ่น จัดโครงการ "เรื่องเพศคุยได้ในครอบครัว" โดย กรมอนามัย เพื่อส่งเสริมการสื่อสารทางบวกระหว่างกันในครอบครัว แม้แต่การพูดคุย เรื่อง เพศ กับลูก
"นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ยังได้มีการพัฒนาแอพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟน ในชื่อ "ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น" เพื่อให้พ่อแม่สามารถเข้าถึงความรู้ การเลี้ยงดูลูกหลานวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยตรง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปรึกษาปัญหาพนันและสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.เจษฎา กล่าว