กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก ในปี 2557 พบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.1 ลิตร สูงเป็นลำดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์จะมุ่งเน้นที่การลดการบริโภคโดยรวม และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขายเป็นหลัก ทำให้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย (harmful use of alcohol) อาทิ การดื่มแล้วขับ นักดื่มก่อนวัย และการดื่มเกินขนาด ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง
คุณชัชฎา จันทรางศุ ผู้จัดการ มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ TFRD (Thai Foundation for Responsible Drinking) กล่าวว่า "มูลนิธิฯ ดำเนินการตามกลยุทธ์ขององค์การอนามัยโลกในการลดปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย (Global strategy to reduce harmful use of alcohol) โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์รูปแบบต่างๆ กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ ยับยั้งนักดื่มก่อนวัย ทำได้...แค่ไม่ขาย ที่มูลนิธิฯ ร่วมกับกรมสรรพสามิต และสถาบันการศึกษา รณรงค์ให้ร้านค้าและสถานบันเทิงรอบสถานศึกษาไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้กับร้านค้าและสถานบันเทิงนำร่อง ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รวมถึงโครงการ Know Your Limit เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลที่แอลกอฮอล์มีต่อร่างกาย และขีดจำกัดของการดื่ม ณ สถานบันเทิงต่างๆ พร้อมเตือนสตินักดื่มไม่ให้ดื่มแล้วขับ ด้วยการบริการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนกลับบ้าน"
คุณชัชฎา กล่าวต่อไปว่า "การลดปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายได้อย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม จะต้องให้ความสำคัญกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งในเรื่องของการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งนี้ จากการที่หน่วยงานงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด เช่น การยึดใบอนุญาตสถานบันเทิงที่ให้บุคคลอายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าใช้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหานักดื่มก่อนวัย และล่าสุดคือการใช้มาตรการเข้มงวดในการยึดรถผู้ขับขี่ยานพาหนะ ขณะเมาสุรา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ยินดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย ด้วยการใช้กฎหมายกับผู้บริโภคผู้ดื่มโดยตรง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างอันตรายของผู้บริโภค และสร้างสังคมการดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ และขอสนับสนุนภาครัฐ และภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว"
สำหรับปี 2559 มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างยิ่งขึ้น อาทิ การร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนตลอดจนพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ในโครงการ "จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ" จัดอบรมแก่ผู้นำในชุมชน (community workshop) ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและพะเยา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบและผลกระทบจากการเมาแล้วขับ อีกทั้งระดมความคิด วางแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับในชุมชนของตน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบของแต่ละชุมชน อันเป็นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของแต่ละชุมชนได้อย่างตรงจุดผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ สอดคล้องกับพันธสัญญา CEO Commitments อันเกิดจากการลงนามร่วมกันของบริษัทธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นนำ 12 บริษัทระดับโลก ในการลดและขจัดปัญหาที่อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย
"การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่การสอนให้รู้จักดื่มแอลกอฮอล์ แต่คือการสอนให้มีความรู้ความเข้าใจ รู้เท่าทันแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะสามารถเลือกดื่มหรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเหมาะสม และดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เพือลดปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างยั่งยืน" คุณชัชฎา กล่าวทิ้งท้าย