ปภ. ประสานจังหวัดกำหนดพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำ รับมือปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2016 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดเตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ กำหนดพื้นที่เป้าหมายขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน พร้อมให้ใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำ และปัญหาภัยแล้งแก่ประชาชนในพื้นที่ เน้นการใช้น้ำ อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงควบคุมคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขต การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 12 จังหวัด 43 อำเภอ 206 ตำบล 1,826 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 2.44 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน กำหนดพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้ครอบคลุมทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เน้นการใช้กลไก "ประชารัฐ" ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์น้ำปัญหาภัยแล้ง และความจำเป็นของภาครัฐในการ ลดการระบายน้ำเพื่อการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น อาทิ นครสวรรค์ สุโขทัย พิจิตร พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ให้เพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังเพิ่ม และงดสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเข้าพื้นที่การเกษตร เพราะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยและมีปริมาณน้ำต่ำสุดในรอบ 20 ปี จึงต้องควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำ ทั้งการเลี้ยงปลาในกระชังและการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมาก รวมถึงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศทางน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถระบายน้ำเพื่อเจือจางน้ำเสียได้ ทั้งนี้ ขอให้จังหวัด เร่งสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนให้ใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ