กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
"เปิดต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 ผนึก เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสร้างโมเดลบูรณาการการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินภายในขั้นตอนเดียวอย่างเป็นรูปธรรม"
หากเอ่ยถึงจังหวัด "สงขลา" หลายคนคงมีภาพจำเกี่ยวกับจังหวัดนี้ในหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงาม หรือแม้กระทั่งการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากแต่ครั้งนี้จังหวัด "สงขลา" ได้ก้าวหน้าไปอีกขึ้นกับการดูแลประชาชนในจังหวัดของตนเองให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
โดยเมื่อไม่นานมานี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)และภาคีเครือข่ายเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 ศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดอบจ.สงขลา ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ประสบเหตุด่วนเหตุร้ายในจังหวัดสงขลาอย่างเต็มรูปแบบ
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากล่าวถึงที่มาที่ไปของการดำเนินโครงการนี้ว่า " จังหวัดสงขลาของเรานั้นถือเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และยังมีการขยายตัวของประชาชนและชุมชุมอยู่ตลอดเวลา การดูแลประชาชนให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้านเพื่อรองรับการขยายตัวในด้านต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ที่พวกเราทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยการ่วมมือกันของหลายฝ่าย โดยอันดับแรกนั้นเราได้ดำเนินการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในจุดเสี่ยงของจังหวัดสงขลาจำนวน 337 จุด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดไว้ที่ อบจ.สงขลา ซึ่งจะทำให้เราดูและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดสงขลาได้ง่าย
และเพื่อง่ายต่อการแจ้งเหตุเรายังได้รวมจัดตั้งศูนย์รับแจ้งแหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธร ไว้ในที่เดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้แล้วสิ่งที่พวกเราให้ความสำคัญที่สุดอีกเรื่องของการดูแลประชาชนในจังหวัดสงขลาคือเรื่องของการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เราจึงได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 จังหวัดสงขลาไว้ที่ อบจ.สงขลา เพื่อจะทำให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ศูนย์ และจะทำให้ประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชีวิตประชาชนทั้งเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินและเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"
ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า " ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการไว้ทุกจังหวัด โดยใช้หมายเลข 1669 เป็นหมายเลขที่ใช้แจ้งเหตุและสั่งการฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้อย่างทันเวลา ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการของในแต่ละจังหวัดจะจัดตั้งอยู่กับโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัด การที่จังหวัดสงขลานำศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 มาบูรณาการการทำงานรวมกันกับศูนย์รับแจ้งแหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธร และศูนย์ศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิด นั้นจะทำให้การดูแลชีวิตของประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานของ อบจ.สงขลาในครั้งนี้นั้นถือเป็นทิศทางที่ สพฉ.ต้องการผลักดันให้เกิดพร้อมกันอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ โดยเราได้ดำเนินการในการเจรจากับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้มีความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อทำให้ท้องถิ่นสามารถเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้ในทุกๆ จังหวัด ได้โดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและเห็นชอบร่วมกันก็จะทำให้เกิดที่พึ่งกับประชาชนในยามที่เจ็บป่วยฉุกเฉินไดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินงานของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 นั้น นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า "เราได้ลงมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ อบจ.สงขลาตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มการก่อตั้งศูนย์ โดยเราได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเซ็ตระบบการจับแจ้งเหตุ 1669 พร้อมทั้งฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในศูนย์ในการรับแจ้งเหตุให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งพื้นที่ที่เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานให้เกิดการดำเนินงานเหมือนที่อบจ.สงขลา คือพื้นที่ของอบจ.สระแก้ว และอบจ.มหาสารคาม"
ด้าน พ.ต.อ.อลงกรณ์ สีมาวุธ ผกก.สภ.เมืองสงขลา กล่าวว่า " ทางตำรวจเราได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ที่จัดตั้งอยู่ที่อบจ.สงขลา 2 ช่วง คือเช้าและเย็น โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่เราได้ร่วมันทำงานกับทุกฝ่ายแบบนี้ การช่วยเหลือประชาชนก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สมมุติหากเกิดเหตุประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นเราก็สามารถดูที่ CCTV ได้ว่าการเคลื่อนย้ายประชาชนนั้นมุอุปสรรคตรงไหนหรือไม่อย่างไร และหากติดปัญหาที่เรื่องของสัญญาณไฟจราจรเราก็สามารถประสานปล่อยสัญญาณไฟได้อย่างทันท่วงที หรือหากมีเหตุด่วนเหตุร้ายเราก็สามารถเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีได้ด้วยเช่นกัน เมื่อก่อนนั้นการทำงานของพวกเราก็จะเป็นการทำงานที่ปลายเหตุ คือเมื่อมีการร้องเรียนหรือแจ้งเหตุมาเราก็จะออกให้การช่วยเหลือ แต่เมื่อมีการบูรณาการการทำงานของทุกศูนย์เข้าไว้ด้วยกันเช่นนั้นเราก็สามารถทำงานตั้งแต้ต้นเหตุได้ ระงับเหตุก่อนที่จะเกิดเหตุได้ จึงเป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนอย่างมาก"
ปัจจุบันศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 ศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดอบจ.สงขลา ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้เปิดพร้อมให้บริการกับประชาชนแล้ว โดยในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 นั้นจะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยรับแจ้งเหตุหรือ Call talker ผู้จ่ายงานปฏิบัติการฉุกเฉิน พยาบาลวิชาชีพ หรือ เจ้าหน้าที่พาราเมดิค แพทย์ เมื่อมีประชาชนโทรขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ศูนย์รับแจ้งเหตุก็จะรีบประเมินอาการของผู้ป่วยหากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงก็จะให้เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ประจำที่ศูนย์ให้คำแนะนำในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในเบื้องต้นแก่ผู้แจ้งเหตุก่อนที่รถพยาบาลที่ออกรับเหตุจะเดินทางไปถึงด้วย