กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) มกราคม 2559 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลางและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 31.3,38.4 และ 30.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 48.6,11.1,12.5,12.7 และ15.1 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.6 และ18.4 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 86.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.5 ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมทั้งการเร่งการใช้จ่ายในช่วงเดือนก่อนหน้า และความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งจากความกังวลดังกล่าวผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ และการผลักดันให้ผู้ประกอบการขยายตลาดการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงเห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อต้นทุนประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.8 โดยปรับตัวลดลงจาก 102.7 ในเดือนธันวาคม โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ความกังวลต่อตลาดการเงินโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศและปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในกิจการโดยเฉพาะ SMEs อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าเกิน 100 แสดงว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินกิจการในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมกราคม 2559 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 78.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 79.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.5 ลดลงจาก 99.2 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 86.8 ลดลงจาก 87.3 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.7 ลดลงจาก 100.6 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 94.3 ลดลงจากระดับ 95.6 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับ106.6 ลดลงจากระดับ 108.6 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2559 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2558
ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 88.1ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 88.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูง ขณะที่สินค้าประเภทแป้งรองพื้น, ลิปสติก มียอดการส่งออกไปประเทศในแถบเอเชียลดลง) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (สิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัวร์ สิ่งพิมพ์บันเทิง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง จากความต้องการใช้ที่ลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ นิยมโฆษณาในสื่อออนไลน์มากขึ้น ขณะที่กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมียอดการส่งออกจีน ญี่ปุ่น ลดลง) ด้านอุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากประชาชนมีการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยลดลง ขณะที่รองเท้าแตะและส่วนประกอบของรองเท้า มียอดการส่งออกไปยังเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรปลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัว
เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ (ผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปต่างๆ โลหะตัวพิมพ์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น หล่อโลหะประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกลยานยนต์ มียอดการส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชีย เพิ่มขึ้น) ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ103.9 ลดลงจากระดับ105.9 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.5 ลดลงจากระดับ 88.4 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ผ้าลูกไม้ เส้นด้าย 100% และเส้นไหมดิบ มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯลดลง ขณะที่ ผ้าขนสัตว์เทียม มียอดการส่งออกไปประเทศจีนลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อไหมพรม เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น จีนลดลง) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา และของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง และยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ประดิษฐ์ ผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้ จากประเทศยุโรปและตะวันออกกลางลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (สินค้าประเภทยาสมุนไพร และยาบำรุงร่างกาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สินค้าOTOP มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนื่องจากสมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยม) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.0 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 82.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.0 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก ประกอบกับต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรมียอดขายลดลง จากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้เกษตรกรจับจ่ายน้อยลง) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าประเภทสารกำจัดศัตรูพืชมียอดขายในประเทศลดลง) ด้านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าประเภทกากน้ำตาล มียอดการส่งออกไป เอเชีย ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากระดับ 95.2 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ 87.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.6 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลง เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลทำให้รถยนต์หลายรุ่นมีการปรับราคาขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคเร่งซื้อรถยนต์ไปแล้วในช่วงสิ้นปี) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรม ยานยนต์มียอดการผลิตลดลง ขณะที่อะไหล่ยานยนต์ ล้อแม็กซ์ มีการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (เครื่องประดับเงินและเพชรมียอดสั่งซื้อลดลงจากตะวันออกกลาง และเยอรมนี ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย ทับทิม มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์ลวดเหล็ก มียอดส่งออกไปประเทศในแถบเอเชีย ยุโรป เพิ่มขึ้น เหล็กแผ่น รีดเย็น วัสดุเหล็กมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 ลดลงจาก 103.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.3 ลดลงจากระดับ 85.0 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ในด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้น 60% มีการส่งออกไปใต้หวัน เวียดนาม และจีน ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ปัญหาราคายางตกต่ำยังเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวล) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ราคาปาล์มดิบปรับตัวลดลงเนื่องจากผลปาล์มล้นตลาด น้ำมันปาล์มดิบ มียอดการส่งออกไปตลาดในเอเชียลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้า ชะลอการสั่งซื้อ) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (เนื่องจากตลาดจีนยังคงชะลอการสั่งซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางพาราได้ปรับลดราคาลง เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการซื้อขาย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลง จากระดับ 100.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนธันวาคม 2558
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนธันวาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และอุตสาหกรรมก๊าซ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.4 ลดลงจากระดับ 102.3 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 92.9 ลดลงจากระดับ 98.0 ในเดือนธันวาคม ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.2 ลดลงจากระดับ 104.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมกราคม คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการบริโภคในประเทศ ผ่านนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย พร้อมยกระดับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก รวมถึงมีการส่งเสริมผู้ประกอบการขยายตลาดการค้าและการลงทุนไปยังเมืองสำคัญๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทย