กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะเกษตรกรใช้ "ปุ๋ย" หลากหลายรูปแบบจากผลงานนักวิจัยไทย ระบุมีการนำไปใช้ในภาคเกษตรอย่างแพร่หลาย ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หวังพัฒนาเกษตรกรไทยให้ยั่งยืน
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ภาคการเกษตรจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลได้นั้น ปัจจัยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตการเกษตรที่สำคัญคือการใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ มีปริมาณและคุณสมบัติเหมาะสมกับพืชที่ปลูก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในระดับต้นๆ ของตลอดห่วงโซ่กิจกรรมการเกษตร ทั้งนี้ วว. ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา "ปุ๋ย" หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการนำไปใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลาย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยจากนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง
"...ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากมูลสัตว์แก่เกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ ภายใต้โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงปุ๋ย ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในคุณสมบัติของปุ๋ยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งพืชและบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต จากการให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงภายใต้โครงการนี้ของ วว. ก่อให้เกิดการสร้างโรงปุ๋ย 317 โรง สามารถผลิตปุ๋ยได้ 1,300,000 กระสอบ สร้างรายได้รวม 1,350 ล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าในการสร้างรายได้ประมาณ 340 ล้านบาทต่อปี)…" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ กล่าวต่อว่า สำหรับการวิจัยพัฒนาสูตรปุ๋ยของ วว. ในแต่ละประเภทนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ซึ่งมีสูตรปุ๋ยหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ดังนี้
ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา/ข้าว/และพืชอื่นๆ เป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งต้นและบำรุงดิน ให้ผลผลิตสูง ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อความต้องการของพืชและการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียปุ๋ยส่วนเกินที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปุ๋ยปลาจากวัสดุเหลือใช้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลาและเลือด ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยปุ๋ยปลาจะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ให้สีสดขึ้นและผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยเร่งการแตกยอดและตาดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้อีกด้วย
ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน มีต้นทุนที่ต่ำและประหยัดแรงงาน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก การหมักปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบนี้ทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน
ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในนาข้าว มีประโยชน์ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้โดยเฉลี่ย 20-30% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 25-30% เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโน "ไลซีน" ที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากคุณสมบัติการตรึงไนโตรเจนของสาหร่าย เพิ่มอินทรียวัตถุและให้ออกซิเจนแก่ข้าวในสภาพน้ำขัง และกระตุ้นการเจริญเติบโตให้พืช/ทนทานต่อโรค
สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายสกุลนอสตอค มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน รักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยป้องกันการกัดเซาะผิวดินโดยน้ำและการกัดกร่อนผิวดินโดยลม ฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน
ปุ๋ยละลายช้า MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) ใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับการเพาะปลูก มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยจะมีอัตราการละลายที่ต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป การใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการใช้ปุ๋ยละลายช้าอย่างแพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้
เกษตรกรท่านใดสนใจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและพัฒนาด้านปุ๋ย วว. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 หรือ Call Center 0 2577 9300 หรือที่ E-mail :marketing_tistr@tistr.or.th