กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--เวิรฟ พับลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์ซี่
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) เดินสายจัดฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมมอบอุปกรณ์สนับสนุนการฝึกอบรม ได้แก่ ไซเรนมือหมุน วิทยุสื่อสาร เต้นท์ หมอนผ้าห่ม และถุงยังชีพ ให้กับพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อสร้างการรับรู้สู่ชุมชนเป้าหมายและเตรียมพร้อมในการป้องกัน แก้ไข และบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งบูรณาการและสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นการอบรมภายใต้หลักสูตรการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Disaster Risk Management: CBDRM) ที่มีความเข้มข้นให้กับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ โดยหลักสูตรเน้นการจัดการภัยพิบัติด้วยบุคคลภายในชุมชนเอง เพื่อสร้างการป้องกัน แก้ไข บรรเทา ฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติแบบบูรณาการ รวมทั้งลดความเสี่ยงภัยของชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถให้คนในชุมชนสามารถระงับบรรเทาภัยได้ โดยกองทุน
ฮอนด้าเคียงข้างไทยร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เดินสายอบรมให้แก่ผู้แทนชุมชนจำนวน 480 คน ในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ ได้แก่ ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง, ตำบาลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย, ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์, ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตำบล
กำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในหุบเขาและบนสันเขาที่สูงชัน
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า "กองทุนฯ ได้วางแผนปฏิบัติการทั้งภายในและภายนอกองค์กร ควบคู่กับการเตรียมทรัพยากรให้ความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ไปพร้อมกัน ทั้ง 4 ด้าน คือ เงินทุน วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรอาสาสมัคร และการส่งเสริมความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ โดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมสนับสนุน "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" เดินสายจัดฝึกอบรมประชาชน เยาวชน รวมทั้งคนในชุมชนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติต่างๆ ทั่วประเทศ"
นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สาขาเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการฯ ว่า "นับเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้กรมฯ สามารถขยายศักยภาพในการอบรมและเข้าถึงชุมชนพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น เพราะชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาและบนสันเขาที่สูงชันทำให้การเดินทางเข้าถึงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้คนที่ชำนาญการในพื้นที่ รวมทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์สนับสนุนในการป้องกันภัยพิบัติประจำชุมชน ซึ่งการได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการในครั้งนี้เป็นเหมือนการสร้างสะพานส่งต่อความรู้ด้านภัยพิบัติจากตัวเมืองสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้คนในชุมชนได้มีความรู้และสามารถช่วยเหลือตัวเอง พร้อมทั้งเตรียมแผนป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติได้"
ด้านนายสมนึก ต๊ะกวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านแม่อ้อใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความสำเร็จในการเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติว่า "พื้นที่บ้านหมู่ 8 มีการกระจายบ้านเรือนเป็นหย่อมๆ ทั้งลักษณะบ้านติดภูเขา และบ้านติดแม่น้ำ และคนในชุมชนยังไม่สามารถรับมือภัยพิบัติได้ดีพอ ทำให้ในทุกปีได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มเป็นประจำ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมอบรมในโครงการแล้ว เป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม โดยได้ช่วยกันสร้างแบบจำลองเผนที่ชุมชนและเส้นทางอพยพ กำหนดจุดระดมพลเมื่อเกิดเหตุต่างๆ การเฝ้าสังเกตการณ์ระดับน้ำเมื่อเข้าฤดูฝน รวมทั้งการประสานงานและการสื่อสารระหว่างหัวหน้ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำพื้นที่ นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้านทั้งสองพื้นที่ ทำให้ที่ผ่านมาสามารถบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แบ่งปันความรู้ให้กับหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นการเสริมสร้างและขยายศักยภาพความแข็งแกร่งของชุมชนเป็นวงกว้าง"