CMMU เปิด กรอบแนวคิดประเมินนวัตกรรมในองค์กร พร้อมพัฒนา 30 ธุรกิจนำร่องในเอ็มเอไอ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 17, 2016 18:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แนะผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่เร่งปรับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร พร้อมเปิดกลยุทธ์การยกระดับองค์กรแบบก้าวกระโดด ผ่านการประเมินและพัฒนาด้วย กรอบแนวคิดการประเมินความเป็นนวัตกรรมขององค์กร ผ่าน 3 กระบวนการ คือ การพัฒนากรอบแนวคิด การประเมินผล และการวิเคราะห์ถึงวิธีการพัฒนา ซึ่งการประเมินจะพิจารณา 4 ปัจจัยหลักภายในองค์กร คือ โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กร การจัดการความรู้ และการจัดการทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี 2559 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำร่องประเมิน 30ธุรกิจนำร่องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นนวัตกรรมในองค์กร (Innovation Organization Capabilities) ของผู้ประกอบการภายในประเทศไทย ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนธุรกิจเอกชนที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ประกอบการไทย และปัญหาที่พบมากในบริษัทคนไทยคือ ขาดการบริหารที่เป็นระบบ มุ่งเน้นแต่ประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมองข้ามเรื่องนวัตกรรมและความยั่งยืนในการบริหารงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็น กับดักของการพัฒนาของผู้ประกอบการไทย เพราะหากมองถึงภาพรวมของธุรกิจแล้ว สินค้าหรือบริการที่ดีอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ธุรกิจนั้นๆประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จึงพัฒนากรอบแนวคิดการประเมินความเป็นนวัตกรรมขององค์กร เพื่อเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการประเมินนวัตกรรมในองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทและทุกขนาด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ พัฒนากรอบแนวคิด ประเมินผล และวิเคราะห์ถึงวิธีการพัฒนา โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้ 1. พัฒนากรอบแนวคิด – การพัฒนากรอบแนวคิดเพื่อประเมินความเป็นองค์กรนวัตกรรมที่อยู่บนพื้นฐานแนวทางการจัดการนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 4 องค์ประกอบหลักเพื่อใช้ในการประเมิน ได้แก่ • โครงสร้างองค์กร คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการทำให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องมี โดยโครงสร้างองค์กรที่ดีต้องมีความสมดุลระหว่างการมีลำดับขั้นความรับผิดชอบ การกระจายอำนาจ และความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกัน • วัฒนธรรมองค์กร คือ สิ่งยึดเหนี่ยวพนักงานทุกคนและเป็นตัวกำหนดเส้นทางเดินขององค์กร โดยวัฒนธรรมองค์กรที่ดีควรให้อิสระ เปิดโอกาสให้กับพนักงาน รวมไปถึงมีแนวทางรองรับปัญหาความขัดแย้งภายในที่อาจเกิดขึ้นได้ • การจัดการความรู้ คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรพัฒนาและก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด โดยการจัดการความรู้นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด โดยตัวอย่างของการจัดการความรู้ที่ดีคือ มีการกำหนดการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ความรู้ การส่งต่อความรู้ และการจัดเก็บความรู้ • การจัดการทรัพยากรมนุษย์ คือ การให้ความสำคัญกับมนุษย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขององค์กร เมื่อบุคลากรในองค์กรมีประสิทธิภาพแล้ว องค์กรนั้นก็จะสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง โดยตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดี คือ การหมุนงาน การอบรม การสนับสนุน การให้รางวัล และการให้คำปรึกษา 2. ประเมินผล – การนำกรอบแนวคิดการประเมินความเป็นองค์กรนวัตกรรมมาใช้ประเมินจริงในองค์กร และบันทึกผลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความพร้อมของการเป็นองค์กรนวัตกรรมในแต่ละด้าน และพิจารณาถึงจุดอ่อนจุดแข็งขององค์กร 3. วิเคราะห์ถึงวิธีการพัฒนา – การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลเพื่อหาแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมโดยเน้นความสอดคล้องระหว่างยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม การจัดการนวัตกรรมและการบริหารโครงการนวัตกรรม ดร.ภูมิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลจะนำกรอบแนวคิดที่ได้พัฒนาขึ้นมา เริ่มประยุกต์ใช้ใน "โครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ ทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนของบริษัท และเพื่อยกระดับความเป็นนวัตกรรมในองค์กร (Innovation Organization Capabilities) ของผู้ประกอบการภายในประเทศไทย โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเริ่มใช้กรอบแนวคิดดังกล่าวประเมิน 30 องค์กรนำร่องและวิเคราะห์ถึงวิธีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจากผลสำรวจบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนั้นประมาณ15 % ทั้งนี้ทีมผู้พัฒนาหวังว่า กรอบแนวความคิดดังกล่าวจะสามารถถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนาองค์กร และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธุรกิจภายในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนองค์กรที่มีนวัตกรรมภายในประเทศมากขึ้นกว่า 40% ภายใน 5 ปี สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ