กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
คนไทยมีแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยลดลงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดการเจ็บป่วยตายจากโรคที่สามารถป้องกันได้ เผย 10 อันดับโรคที่คุกคามสุขภาพคนไทยที่แฝงตัวมากับการพัฒนา โดยเฉพาะเอดส์ อุบัติเหตุการจราจรคร่าชีวิตคนวัยทำงานในอัตราสูงสุด หวั่นการแย่งชิงทรัพยากรจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดโทรม ด้านผู้อำนวยการ สวรส.เผยการพัฒนาที่ผ่านมาดึงคนจากชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการติดเอดส์ การทำแท้ง ปัญหามีลูกแล้วฝ่ายชายไม่รับผิดชอบ
พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นักวิชาการจากสำนักนโยบายและแผนกระทรวงสาธารณสุข ผู้จัดการทีมวิจัยเรื่อง สถานะสุขภาพคนไทย โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่า ภาวะสุขภาพของคนไทยไม่มีความสมดุลในองค์รวมแห่งสุขภาพ พบว่า เด็กในชนบทเป็นโรคขาดสารอาหาร ถึง 1 ใน 5 ขณะที่เด็กในเขตเมืองมีภาวะอ้วน และร้อยละ 44 มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำ ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่ม 2-3 เท่า อัตราการตายเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ต่อประชากรพันคนในปี 2541 จากเดิมอยู่ที่ 4.1 ต่อประชากรพันคนในปี 2529 มีผู้สูงอายุร้อยละ 19 เจ็บป่วยเรื้อรังต้องรักษานานกว่า 6 เดือน ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตทางสุขภาพที่แฝงตัวมากับการพัฒนาเศรษฐกิจและการล่มสลายของสังคมไทย สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพคือพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ภาวะสุขภาพของคนไทยในปี 2541 ที่เป็นภาระสังคม 10 อันดับแรกได้แก่ โรคเอดส์ อุบัติเหตุจราจร โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคปอดอุดตันเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง วัณโรคและหัวใจขาดเลือด ภาวะการเจ็บป่วยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมของคนไทย
“ ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพคือ ด้านพฤติกรรม เช่นพฤติกรรมทางเพศก่อให้เกิดโรคเอดส์ พฤติกรรมบริโภคทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคทางเดินอาหาร พฤติกรรมการดำรงชีวิตก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือ ฝุ่นที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดิน-หายใจ และโรคปอด คนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่จะเสี่ยงกับปัญหามลพิษด้านนี้มาก” พ.ญ.จันทร์เพ็ญ กล่าวและว่า ปัจจัยในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยลดลงจากเดิม 72 ปีเหลือเป็น 65 ปี และมีปัญหาโรคแพร่ระบาดแพร่กระจายตามมาอย่างกว้างขวาง
ด้าน น.พ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการจัดระบบสุขภาพใหม่เพื่อหยุดยั้งการคุกคามทางสุขภาพ โดยปรับเปลี่ยน 2 ประการ ที่สำคัญคือ 1.การเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน สามารถดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทันเงื่อนไขแวดล้อม มีความสุขตามอัตภาพ 2.การสร้างนโยบายสาธารณะให้เอื้อต่อสุขภาวะของคนไทย เพื่อให้การจัดการด้านสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงภายในประเทศตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของคน ตลอดจนการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีความคุ้มทุนจากค่าใช้จ่ายที่เสียไป “เราพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาดึงคนออกมาจากชุมชน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว เกิดการ เปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ก่อปัญหาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะปัญหาการสำส่อนทางเพศก่อให้เกิดโรคเอดส์ ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จนต้องทำแท้ง ตัวเลขทางการที่สำรวจได้มีคนทำแท้งปีละประมาณ 40,000|50,000 คน แต่จากการคาดประมาณ คาดว่า มีคนทำแท้งปีละกว่า 300,000 คน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม เมืองใหญ่ ๆ ลำพูน เราพบซากตัวจากการทำแท้งที่บริเวณแถบจังหวัดอยุธยาจำนวนมาก” --จบ--
-นศ-