กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กสทช.
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 4/2559 วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 มีวาระการประชุมที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องขออนุมัติการหักค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จากเงินที่ได้รับจากการจัดประมูลก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เรื่องตอบหนังสือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม ระบุว่า กสทช. ไม่มีสิทธินำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปจัดประมูล เรื่องบจ. วิทยุการบินฯ ขอปรับประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อขอประกอบการเพิ่มเติมในเชิงพาณิชย์ และเรื่องบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้นำส่งแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้ กทค. พิจารณา
หักค่าใช้จ่ายเตรียมการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz
สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอวาระขออนุมัติหักเงินประมาณ 22.8 ล้านบาท ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz คืนสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. โดยในส่วนนี้จะเป็นการขอหักจากเงินที่ได้จากการจัดประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละย่านก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเป็นการหักเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินที่ กทค. เคยมีมติอนุมัติเมื่อการประชุมครั้งที่ 16/2557 จำนวน 174 ล้านบาทสำหรับใช้ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นทั้งสองย่าน
วาระการหักค่าใช้จ่ายที่ว่านี้นับว่ามีความซับซ้อนซ่อนปมพอสมควร โดยเรื่องสืบเนื่องจาก กทค. เคยมีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 63 ล้านบาทในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 50 ล้านบาทในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่ในเวลาต่อมาปรากฏว่ามีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ กสทช. ชะลอการจัดประมูลคลื่นเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมการประมูลคลื่นเกิดขึ้นแล้ว 22.8 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ประมาณ 22.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 900 MHz อีกประมาณ 4แสนบาท ซึ่งได้มีการยืมเงินจากสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. สำรองจ่ายไปก่อน
หลังจากนั้นในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2557 สำนักงาน กสทช. ได้ขออนุมัตินำรายการค่าใช้จ่ายในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จำนวนประมาณ 12.2 ล้านบาท ไปหักออกจากรายได้ที่จะได้รับจากการจัดประมูลคลื่นในภายหลัง โดยนำส่งคืนเงินยืมสำรองจ่ายจากรายได้สำนักงาน ซึ่งที่ประชุมในครั้งนั้น กสทช. ก็ได้อนุมัติตามที่สำนักงานเสนอ
ต่อมาเมื่อมีการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี 2558 ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2558 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สำนักงาน กสทช. ก็ได้ขออนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมการประมูล โดยหนนี้กรอบวงเงินที่ขออนุมัติโป่งขึ้นเป็น 174 ล้านบาท โดยเป็นการเตรียมการจัดประมูลคลื่นย่านละ 87 ล้านบาท
จนเมื่อการจัดประมูลคลื่นทั้งสองสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยในส่วนของคลื่น 1800 MHz นั้น ผู้ขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นได้ชำระเงินงวดแรกให้กับสำนักงาน กสทช. แล้ว ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงนำเสนอวาระขออนุมัติหักค่าใช้จ่ายจากรายได้ที่ได้จากการจัดประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. เสนอขออนุมัติหักค่าใช้จ่ายจำนวน 109.4 ล้านบาท ซึ่งยอดเงินจำนวนนี้มาจากค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กสทช. เคยแจ้งว่าเกิดขึ้นแล้วในการเตรียมการจัดประมูลครั้งแรกจำนวน 22.4 ล้านบาท รวมกับกรอบวงเงินที่เคยขออนุมัติไว้ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2558 จำนวน 87 ล้านบาท ดังนั้นจึงปรากฏข้อผิดสังเกตขึ้น นั่นคือจำนวนเงินจำนวน 12.2 ล้านบาทที่ กสทช. ได้เคยอนุมัติไปแล้วว่าให้สามารถหักจากรายได้การประมูลในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2557 นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนใด มีความซ้ำซ้อนกับส่วน 22.4 ล้านบาทหรือไม่ นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อชวนสงสัยให้ขบคิดต่ออีกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายจำนวน 22.4 ล้านบาทควรรวมอยู่ในกรอบวงเงิน 87 ล้านบาทด้วยหรือไม่ และสุดท้ายแล้วเบ็ดเสร็จวงเงินค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กสทช. จะหักจากรายได้ประมูลก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งทั้งหมดนี้ สำนักงาน กสทช. ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายมาให้ กทค. พิจารณาแต่อย่างใด เป็นเพียงนำเสนอตัวเลขกลมๆ หลักสิบล้านร้อยล้านมาให้ลงมติเท่านั้น
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท อ้าง กสทช. ไม่มีสิทธิให้ประมูลคลื่น 1800
วาระนี้มีต้นเรื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2558 แจ้งให้ กสทช. ชี้แจงประเด็นที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม ร้องเรียนกับ สคร. ว่า กสทช. ไม่มีสิทธินำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปประมูล โดยอ้างว่า บมจ. กสทฯ ยังไม่สิ้นสิทธิการถือครองและใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว เพราะเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรคมนาคมแทนรัฐ โดยได้รับการจัดสรรคลื่นจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ในสมัยที่ยังเป็นระบบสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิการถือครองไว้
อย่างไรก็ดี ความเห็นต่อวาระนี้ที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในการทำหนังสือตอบ สคร. นั้น โต้แย้งไว้อย่างชัดเจนว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจจัดสรรคลื่นตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกระบบผูกขาดโดยรัฐและเข้าสู่ระบบที่มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขณะที่การแปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทยจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชนก็เพื่อรองรับการเข้าสู่ระบบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อีกทั้งใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมด้วยวิธีการประมูล รวมถึงในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน กำหนดว่า ให้คลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานดังกล่าว ซึ่งในตอนนั้น บมจ. กสทฯ ก็ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งในสมัยที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ บมจ. กสทฯ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ก็ได้มีการกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตไว้ด้วยเช่นกันว่า "ให้สิทธิในคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง" ซึ่งก็ไม่เคยปรากฏว่า บมจ. กสทฯ มีการทักท้วงหรือคัดค้านการออกใบอนุญาตนี้
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อพิพาทนี้ยังเคยถูกหยิบยกให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. และคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งรับผิดชอบให้คำปรึกษาในปัญหาข้อกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐตีความ ผลการวินิจฉัยที่ออกมาก็สอดคล้องกันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม
ดังนั้น เชื่อว่าในประเด็นเรื่องสิทธิในการจัดสรรคลื่นความถี่ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นย่าน 1800 MHz ที่คู่กรณีคือ บมจ. กสทฯ หรือคลื่นย่าน 900 MHz ที่คู่กรณีคือ บมจ. ทีโอที ทาง กสทช. ก็ต้องยืนยันความชอบด้วยกฎหมายในการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน
บจ. วิทยุการบินฯ ขอปรับประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการ
วาระนี้เป็นเรื่องที่ บจ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ประสงค์ขอปรับประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้บริการและพื้นที่การให้บริการ โดยจะเป็นการขยายบริการวิทยุเฉพาะกลุ่ม Trunk Radio ระบบ Analog/Digital และบริการวิทยุ Single Channel ไปยังกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากกลุ่มสายการบินและที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการบิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้จากบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ประเด็นที่ต้องจับตาในวาระนี้คือ บจ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ตั้งขึ้นโดยมีภารกิจหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการจราจรทางอากาศ การสื่อสารการบิน และบริการอื่นที่เกี่ยวกับปฏิบัติการการบิน เพื่อให้เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ การที่ บจ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จะหันมาประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยขยายกลุ่มผู้ใช้บริการให้ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะการที่ บจ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่แต่เดิมนั้น ก็เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางการบิน การติดต่อสื่อสารทางการบิน และควบคุมการจราจรทางอากาศ ซึ่งหากประสงค์จะนำคลื่นความถี่ไปเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์นอกเหนือขอบเขตภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานและวัตถุประสงค์ของการได้รับอนุญาตที่ผ่านมา ก็ต้องพิจารณาว่าอาจต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ด้วยหรือไม่
เอไอเอสนำส่งแผน CSR ตามเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800
ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ขององค์กรเสนอต่อ กทค. พิจารณาก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี ซึ่งในขณะนี้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ได้นำส่งแผน CSR มาให้พิจารณาแล้ว โดยโครงการที่บริษัทนำเสนอ ได้แก่ โครงการ AWN คืนแบต คืนโลก ซึ่งเป็นโครงการรับแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่เสื่อมสภาพไปรีไซเคิล, โครงการรณรงค์การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างถูกต้องในสถานที่ที่เคร่งครัดการใช้ เช่น ห้องสมุด ห้องเรียน โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล, โครงการจัดทำแผนความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นการเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีความสามารถรองรับเทคโนโลยีในอดีตได้ด้วย, โครงการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและทางสายตา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตบางประการ เช่น โครงการ AWN คืนแบต คืนโลก เป็นโครงการที่รับคืนเฉพาะแบตเตอร์รี่เสื่อมสภาพ มิได้ครอบคลุมถึงอุปกรณ์อื่นที่ผู้บริโภคซื้อไปจากบริษัท ที่เมื่อทิ้งแล้วก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน อย่างเช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็ปเล็ต, การกำหนดอัตราค่าบริการราคาถูกสำหรับผู้พิการทางการได้ยินและทางสายตา ซึ่งรายการส่งเสริมการขายที่กำหนดนั้น หากผู้พิการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วย พบว่าอัตราค่าบริการค่อนข้างสูง คือคิดราคาเมกะไบต์ละ 1.61 บาท นอกจากนี้ มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสมของบริษัทที่กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่พึงพอใจในบริการต่างๆ ที่บริษัทนำเสนอผ่าน SMS ก็สามารถแจ้งยกเลิกได้ ซึ่งก็เป็นหลักการที่ขัดกับประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ที่ห้ามการส่ง SMS มาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งที่ผู้ใช้บริการไม่ได้สมัคร ดังนั้น กทค. คงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อให้แผน CSR ของบริษัทเป็นแผนที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้จริง