กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า วันนี้ยังคงเดินหน้าติดตามผลการขับเคลื่อนงานด้านท่องเที่ยว3ยุทธศาสตร์อย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างให้เกิดรายได้กับภาคธุรกิจและชุมชนให้มากที่สุด โดยมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงท่องเที่ยวได้ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดสถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวล่าสุด (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559)
รายได้จากนักท่องเที่ยววันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2559
นักท่องเที่ยวสะสมขยายตัวร้อยละ 23.33 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งก่อให้เกิดรายได้จากนักท่องเที่ยว 88,033.36 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.33 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
2) นักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลักเดือนกุมภาพันธ์ 2559
นักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลักขยายตัวร้อยละ 37.10 จากจำนวนนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลัก 5 แห่ง ในวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศพบว่ามีจำนวน 1,384,066 คน ขยายตัวร้อยละ 37.10 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยท่าอากาศยานที่นักท่องเที่ยวขยายตัวสูงสุดคือท่าอากาศยานดอนเมือง ร้อยละ 95.21 รองลงมาได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ภูเก็ต สุวรรณภูมิ และหาดใหญ่ (ขยายตัวร้อยละ 71.16 ร้อยละ 40.99 ร้อยละ 25.27 และร้อยละ 22.06 ตามลำดับ)
นางกอบกาญจน์กล่าวว่าผลของความคืบหน้าของ3ยุทธศาสตร์จะเน้นความสอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องเชิงเป้าหมายนโยบายที่ยั่งยืนได้แก่1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Leisure Destination), 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและประเภทสินค้าการท่องเที่ยวอย่างสมดุล (รายได้-ประชาคม-สิ่งแวดล้อม) และ3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ (ความปลอดภัย, ความสะดวก, ระบบข้อมูลและ Intelligence Center)โดยจะยึดคลัสเตอร์ในระดับกลุ่มจังหวัดแยกย่อยสู่พื้นที่และชุมชนในการขับเคลื่อนโดยผลการดำเนินการมีดังต่อไปนี้
Thailand Super Yacht Show 2016
นางกอบกาญจน์ เปิดเผยภายหลังการร่วมพิธีเปิดงาน Thailand Yacht Show 2016 ณ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธาน ซึ่งงานนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ร่วมมือกันจัดงาน "มหกรรมเรือสำราญและมารีน่า -ไทยแลนด์ ยอร์ช โชว์ 2016" โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บริเวณอ่าวปอ แกรนด์ มารีน่าจ.ภูเก็ต
คณะผู้จัดงานมีเจตนาในการรวบรวมสุดยอดความอลังการของเรือสำราญมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมได้เห็นถึงนวัตกรรมความทันสมัยพร้อมโชว์ไลฟ์สไตล์แบบหรูหรา ซึ่งถือเป็น Kick-off Event ของกลุ่มตลาดเรือสำราญสำหรับปี 2559 งานนี้จะช่วยเสริมแรงการจัด International Yacht Events อาทิ งาน "The 19th Bay Regatta" งาน "Cape Panwa Hotel Phuket Raceweek" ซึ่งเป็นการเปิดของ "Asian Yachting Grand Prix" และงาน "Asia Super yacht Rendezvous" ที่สำคัญงาน "มหกรรม เรือสำราญและมารีน่า – Thailand Yacht Show 2016" นับเป็นการสร้างแพลทฟอร์มให้กับผู้ประกอบการของไทยได้เปิดตัวสินค้าและบริการที่รองรับลูกค้าระดับบนแบบครบวงจรอีกด้วย
ประชุมพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มอันดามัน
จากนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมาพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ครั้งที่ 1/2559 โดยมี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก)นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ป.กก.) ผู้ว่าราชการจังหวัด และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มคลัสเตอร์ท่องเที่ยวดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
พลเอก ธนะศักดิ์ ประธานที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชมการทำงานของบุคลากรในกลุ่มท่องเที่ยวพื้นที่อันดามันว่ามีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยว นอกจากชายหาดแล้วยังมีเรื่องของกีฬาและวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่นเรื่องของสนามบิน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวระยะยาว ยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยอนาคตวางเป้าหมายประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดภัย สมดุล ยั่งยืน และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคที่คนทั่วโลกอยากมาเยือน เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในท้องถิ่น ภูมิภาคส่วนกลาง และขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (ASEAN CONNECT) นอกจากนี้จะมีการเพิ่มเขตพัฒนาการท่องเที่ยวจากเดิมที่มีอยู่ 5 เขต เพิ่มขึ้นอีก 3 เขต คือเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรม เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง รวมถึงแนวคิดที่จะให้มีการเพิ่มมูลค่าของคลัสเตอร์อย่างมั่นคง โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
นางกอบกาญจน์ กล่าวถึงคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวฯ ชุดนี้ว่าเป็นคณะกรรมการที่ถาวรไม่ได้เพียงทำหน้าที่คิดแผนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลให้แผนเกิดขึ้นจริงด้วย และทำอย่างต่อเนื่องให้ได้คุณภาพ ประการสำคัญคือทำอย่างไรให้สามารถรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างที่ต้องการ โดยเน้นในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การสร้างจิตสำนึกในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดในการใช้กฎระเบียบที่มีอยู่ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือไปพร้อมๆ กัน เพื่อควบคุมนักท่องเที่ยวให้มีคุณภาพซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด นอกจากนี้ยังเน้นการกระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวภาคเกษตรมากขึ้น ซึ่งต่อไปกลุ่มอันดามันจะเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวคุณภาพ..."เราคุยกันทั้ง 3 มิติของการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Leisure Destination), การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและประเภทสินค้าการท่องเที่ยวอย่างสมดุล (รายได้-ประชาคม-สิ่งแวดล้อม) และการบริหารจัดการ (ความปลอดภัย, ความสะดวก, ระบบข้อมูล และ Intelligence Center) โจทย์ใหญ่ที่หารือกันเข้มข้นคือ 3 หัวใจหลักนี้ต้องพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน" รมว.กอบกาญจน์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันซึ่งประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 9.1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 4.33 และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จำนวน 15.25 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 413,341.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 10.22 ทั้งนี้มากจากปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวแคมเปญ "12 เมืองต้องห้าม...พลาด" โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันสูงสุด 5 อันดับแรกคือ จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย เยอรมัน และ อังกฤษ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้เสนอโครงการที่จะทำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของกลุ่มอันดามันในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จำนวน 5 โครงการ ให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวได้รับทราบ ได้แก่
โครงการแข่งขันจักรยานทางไกล "Tour De Andaman" (ใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท)
โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน(ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท)
โครงการระบบท่องเที่ยวภาคใต้แบบเสมือนจริง Tourism AR Guide(ใช้งบประมาณ 2.95 ล้านบาท)
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์อนุสรณ์สถานชนะศึก(ใช้งบประมาณ 22.567 ล้านบาท)
โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อการบริหารจัดการน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยว(ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท)
การเตรียมนักกีฬาทีมชาติไทย ชุด โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31
กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 หรือ "ริโอเกมส์ 2016" จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคม 2559 ที่ นครริโอ เดอ จาเนโร สาธารณรัฐบราซิลโดยจัดการแข่งขันทั้งหมด 28 ชนิดกีฬา ในส่วนของนักกีฬาทีมชาติไทย ได้เดินทางไปแข่งขันรายการคัดเลือกเพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมในโอลิมปิกเกมส์อย่างต่อเนื่องและมีการเก็บตัวฝึกซ้อมมาตลอด หลังจากจบการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ สาธารณรัฐสิงคโปร์ขณะนี้มีนักกีฬาที่ได้โควต้าแล้ว จำนวน 17 คน จาก ยิงเป้าบิน1 คน,ยิงปืน 4 คน ,มวยสากล1 คน , เทควันโด1 คน ,ยกน้ำหนัก8 คน ,และ กรีฑา2 คน โดยในปีนี้ มีพัฒนาการในการเก็บตัวนักกีฬาที่แตกต่างไปจากทุกครั้ง คือ ได้มีการจัดคอร์สนำผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มาเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาทั้ง 17 คน เป็นพิเศษ เกี่ยวกับเรื่อง โภชนาการ จิตวิทยา ชีวกลศาสตร์ นอกเหนือไปจากการเก็บตัวฝึกฝนความแข็งเกร่งและเทคนิคในแต่ละประเภทกีฬา รัฐมนตรี และ ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย มีโครงการเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจนักกีฬาที่เก็บตัวฝึกซ้อมอยู่ในสถานที่ต่างๆ
ทั้งนี้ ยังมีชนิดกีฬาเดิมที่น่าจะได้โควต้าเพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็น มวยสากล เทควันโด กรีฑาและอีกหลายชนิดกีฬา ที่มีโอกาส อาทิ กอล์ฟ ที่น่าจะได้จากอันดับโลก จาก 4 คน ไม่ว่าจะเป็น ธงชัย ใจดี, กิรเดช อภิบาลรัตน์, เอรียา จุฑานุกาล และพรอนงค์ เพชรล้ำ รวมถึงแบดมินตัน จักรยาน เทนนิส มวยปล้ำ วินด์เซิร์ฟ เรือใบ ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส ยูโด ฟันดาบ เรือพาย ยิงธนู และวอลเลย์บอลหญิง คณะกรรมการเตรียมนักกีฬาฯ ประมาณการกันว่าหากไม่มีความผิดพลาดนักกีฬาทีมชาติไทยจะได้สิทธิ์เข้าร่วมชิงชัยประมาณ 37 - 57 คน