กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--โอกิลวี่ พีอาร์ พับลิค รีเลชั่นส์
แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ (Van Cleef & Arpels) แบรนด์จิวเวลรี่ชั้นนำจากฝรั่งเศส เตรียมเปิดนิทรรศการพิเศษชุด "The Art & Science of Gems" ครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ ArtScience Museum ประเทศสิงคโปร์ นำผลงานการออกแบบจิวเวลรี่กว่า 400 ชิ้นตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์กว่า 110 ปีมาแสดงเป็นครั้งแรก เพื่อเผยความเชี่ยวชาญด้านศิลปะสร้างสรรค์จิวเวลรี่ที่สืบทอดมากว่า 1 ศตวรรษ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมสัมผัสผลงานการออกแบบอันทรงคุณค่าตั้งแต่ 23 เมษายน – 14 สิงหาคม พ.ศ.2559
มร.นิโคลาส บอส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ กล่าวว่า "นิทรรศการ "The Art and Science of Gems" จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ ArtScience Museum และแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ เพื่อเฉลิมฉลองเรื่องราวแห่งวิทยาศาสตร์และศิลปะของหินแร่อันเลอค่า จึงแบ่งนิทรรศการเป็น 2 ส่วนคือ ศิลปะการสร้างจิวเวลรี่ที่มีผลงานของแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์มาจัดแสดงมากกว่า 400 ชิ้น และอีกส่วนหนึ่งจัดแสดงหินแร่อันสูงค่าที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งฝรั่งเศสเอื้อเฟื้อนำมาจัดแสดงร่วมกันมากกว่า 250 ชิ้น เป็นการย้ำถึงจุดร่วมระหว่างศาสตร์ของแร่วิทยาและศิลปะการสร้างสรรค์ผลงานจิวเวลรี่ว่ามีความสอดคล้องและเกื้อหนุนต่อกัน"
นิทรรศการชุด "The Art & Science of Gems" จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสำรวจการทำงานของช่างผู้ชำนาญการสร้างสรรค์จิวเวลรี่ และที่มาของหินแร่และพลอยที่ค้นพบจากชั้นเปลือกโลก ตรงตามแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ ArtScience Museum ประเทศสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการสำรวจจุดเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี โดยผลงานอัญมณีและจิวเวลรี่มากกว่า 400 ชิ้นที่จะนำมาจัดแสดงได้รับการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันจากคอลเลคชั่นของแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์เอง และนักสะสมจากทั่วโลก ซึ่งสร้างสรรค์ด้วยฝีมือของช่างผู้ชำนาญจากแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ที่ได้รับการขนานนามว่า "ช่างมือทอง" (Mains d'Or™) ส่วนหินแร่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งฝรั่งเศสเอื้อเฟื้อนำมาจัดแสดง ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันประเมินค่ามิได้ ที่หลายๆ คนต้องทึ่งแน่นอน
การบอกเล่าเรื่องราวของนิทรรศการนี้จะแบ่งเป็นธีมหลักทั้งหมด 7 ธีมได้แก่
- Couture – ผลงานการออกแบบจิวเวลรี่ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของปารีส เมืองแห่งแฟชั่นชั้นสูง เมืองต้นกำเนิดของแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ ผลงานชิ้นไฮไลต์คือ Zip Necklace (1954) สร้อยคอที่สร้างขึ้นจากรูปทรงของซิปตามคำแนะนำของดัชเชส ออฟ วินเซอร์
- Abstraction – ผลงานการออกแบบจิวเวลรี่ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะสไตล์มินิมอลลิสต์ โมเดิร์นนิสต์ แอ๊บสแตรกต์ และออพอาร์ต จากผลงานศิลปินระดับโลก ปาโบล ปิคาสโซ และแฟร์นองด์ เลจีร์ ก่อให้เกิดงานจิวเวลรี่รูปทรงแปลกตาทว่าน่าสนใจอย่าง Art Deco Bracelet (1925) สร้อยข้อมือประดับด้วยเพชรทั้งทรงกลม รูปหยดน้ำ และทรงสี่เหลี่ยม
- Influences – ผลงานการออกแบบจิวเวลรี่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโลกตะวันออกในทศวรรษ 1920 ผสมผสานกับสไตล์ฮิปปี้ในทศวรรษ 1970 เกิดเป็นงานจิวเวลรี่หลากชนิดหลายสี อาทิ Egyptian Inspiration Bracelet (1924) ที่สลักเสลาด้วยอัญมณีหลากสีฉายให้เห็นภาพสลักของสุสานตุตันคาเมน
- Precious Objects – คอลเลคชั่นกล่องเก็บของอันเลอค่าประดับด้วยอัญมณี อาทิ Wild rose Minaudière (1938) กล่องบรรจุอุปกรณ์ประทินโฉมที่ทำจากทองประดับด้วยอัญมณีรูปดอกกุหลาบที่สามารถถอดออกมาใส่เป็นเข็มกลัดได้
- Nature – ผลงานการสร้างสรรค์เครื่องประดับจิวเวลรี่ที่หยิบแรงบันดาลใจอันไม่รู้จบจากธรรมชาติมาใช้ ซึ่งมีงานไฮไลต์อย่าง Bouquet Clip (1940) เข็มกลัดรูปช่อดอกไม้สีฟ้าแดง
- Ballerinas and Fairies – ผลงานการออกแบบงานจิวเวลรี่ด้วยความรักความสนใจในการเต้นรำของหลุยส์ อาร์เพลส์ ทายาทของผู้ก่อตั้ง ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาครั้งแรกตอนต้นทศวรรษ 1940 และมีผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซอย่าง Spanish Ballerina Clip (1941) เข็มกลัดรูปนักบัลเล่ต์ประดับด้วยเพชร และอัญมณีหลากสีสัน
- Icons – คอลเลคชั่นเครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจจากสุภาพสตรีผู้เป็นไอคอนแห่งยุค ทั้งเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ เรื่อยไปจนถึงบุคคลชั้นสูงในวงสังคม ผลงานชิ้นเด่น อาทิ Peony Clip (1937) เข็มกลัดรูปดอก พีโอนีที่รังสรรค์ขึ้นสำหรับเจ้าหญิงแฟซาแห่งอียิปต์
ผู้สนใจสามารถซื้อตั๋วเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ที่บ็อกซ์ออฟฟิศทุกสาขา และที่เว็บไซต์ศูนย์การค้ามารีน่า เบย์ แซนด์ ตั๋วสำหรับผู้ใหญ่ราคา 17 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ราคา 12.8 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน และเด็ก (อายุ 2-12 ปี) ราคา10 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน โดยตั๋วราคาพิเศษสำหรับครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 ท่านและเด็ก 2 ท่าน) ราคารวม 39 ดอลลาร์สิงคโปร์
รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซต์ www.marinabaysands.com/artsciencemuseum และติดตามข้อมูลอัพเดทได้ที่ แฮชแท็ค #theartscienceofgems และที่ @vancleefarpels