กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ฟิทซ์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ - กรุงเทพ/ลอนดอน: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National ratings) ระยะยาวและระยะสั้นแก่หนี้ของธนาคารกสิกรไทยที่ระดับ AA-(tha) และ ระดับ F1(tha) ตามลำดับ การจัดอันดับภายในประเทศครั้งนี้เกิดหลังจากที่ฟิทช์สำนักงานใหญ่ที่ลอนดอนได้ยืนยันอันดับเครดิตแบบสากล (International ratings) สำหรับสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตสำหรับสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและระยะสั้นที่ระดับ BB+ และ B ตามลำดับ รวมถึงอันดับสนับสนุน (Support rating) ที่ระดับ 2 และอันดับความเข้มแข็งทางการเงินของธนาคาร (Individual or financial strength) ที่ระดับ D ระดับที่ได้รับจากการจัดอันดับในครั้งนี้มีส่วนมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งของฐานเงินฝากสำหรับลูกค้ารายย่อยในระดับที่สูง มีสัมพันธ์ที่ดีและแข็งแกร่งกับสถาบันที่เกี่ยวข้องกับรัฐฯต่างๆ รวมถึงมีความสำคัญต่อระบบการเงินและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ การจัดอันดับครั้งนี้ยังได้พิจารณาถึงความเป็นผู้นำของธนาคาร ประกอบกับนโยบายที่เข้มงวดในการกันสำรองเพื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การเพิ่มทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการขายสินทรัพย์ จะส่งผลให้ธนาคารสามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินได้ในระยะกลาง
ผลประกอบการของธนาคารในปี 2543 ที่ผ่านมานั้นได้แสดงถึงการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการลดลงของการกันสำรองเพื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการลดลงของต้นทุนดอกเบี้ยเป็นหลัก ธนาคารแสดงผลประกอบการกำไรเป็นจำนวน 1.26 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 5.6 หมื่นล้านบาทในช่วงปีก่อน การพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนั้นได้ชะลอตัวลงในช่วงปี 2544 และธนาคารน่าจะแสดงผลกำไรเพียงเล็กน้อยในช่วงปีนี้ สาเหตุของกำไรที่ลดลงนั้นเนื่องมาจากการกันสำรองเพื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ ประกอบกับระบบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารขยายสินเชื่อได้ยากและการย้อนกลับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รวมกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รายใหม่ และความกดดันที่เกิดจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่น้อยลง สิ่งเหล่านี้จะยังทำให้ผลประกอบการของธนาคารคงอ่อนแออยู่ในระยะสั้น อย่างไรก็ตามธนาคารกสิกรไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำการปฎิรูปองค์กร เพื่อให้ธนาคารกลับมามีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในระยะกลาง โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เกิดขึ้นกับทั้ง สาขา ผู้บริหารทั้งระดับกลางและระดับสูง รวมถึงการปรับกลุ่มลูกค้าและสินค้าของธนาคารให้กระจายสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อย และลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลาง ให้มากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงการขยายบริการไปยังสาขาการบริหารจัดการกองทุนอีกด้วย นอกจากนี้แล้วธนาคารยังได้ทำการปรับปรุงการบริหารจัดการความเสี่ยงและยังคงยืนหยัดในความเป็นบรรษัทพิบาลที่ดีต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ธนาคารกสิกรไทยสามารถลดจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (งบการเงินรวม) จาก 32% ในปี 2542 มาเป็น 26% ในปี 2543 เราคาดหวังว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงต่อเนื่องในปีนี้ไปอยู่ในระดับ 20% ในปลายปี 2544 เนื่องจากการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้บางส่วนไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยของรัฐบาลและการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง ระดับเงินสำรองเพื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารนั้นอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ณ ปลายปี 2543 และลดลงเป็น 5.9 หมื่นล้านบาท ณ ปลายเดือน มิถุนายน ของปี 2544 หลังจากการตัดหนี้สูญที่ได้ทำเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2544 ระดับเงินสำรองเพื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 45% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ระดับเงินสำรองเพื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกสิกรไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในระหว่างธนาคารของไทย แม้ว่าจะยังคงไม่แน่นอนว่าระดับที่อยู่นี้จะเพียงพอ ฟิทช์เชื่อว่าการที่ธนาคารมีระดับการกันสำรองที่สูงจะทำให้ธนาคารสามารถแสดงผลการดำเนินงานที่มั่นคงกว่าธนาคารอื่นเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อความต้องการการกันสำรองเพิ่มน้อยกว่า ณ ปลายเดือน มิถุนายน 2544 ธนาคารมีระดับเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งอยู่ที่ 7% และระดับเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 12% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อปลายปี 2543 ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ เนื่องจากระดับของเงินสำรองที่ค่อนข้างสูงของธนาคารเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆ แนวโน้มในระยะกลางของธนาคารกสิกรไทยนั้นดีกว่าธนาคารโดยทั่วไป ด้วยความสามารถของผู้บริหารที่มีเข้มแข็งและความมั่นคงที่จะปรับปรุงธนาคารให้สามารถกลับมาทำกำไร และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ติดต่อ: ดุษฎี ศรีชีวะชาติ; วินเซนต์ มิลตัน, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
เดวิด มาแชล, ฮ่องกง +852 2973 6293
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 68.5% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด--จบ--
-อน-