กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีพิธีเปิดสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ในฐานะองค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ณ ที่ทำการธนาคารกลางสิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของสมาชิกอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงผู้บริหารสถาบันการเงินชั้นนำเข้าร่วม
AMRO จัดตั้งขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ ติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศและในระดับภาพรวมของภูมิภาคอาเซียน+3 ประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ AMRO ยังมีบทบาทในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี หรือ Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจแก่สมาชิกอาเซียน+3
แม้ว่า AMRO จะได้เริ่มดำเนินงานในรูปบริษัทจำกัดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 แต่จากภารกิจที่เพิ่มขึ้นข้างต้น สมาชิกอาเซียน+3 ตระหนักถึงความสำคัญของ AMRO ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค จึงได้เร่งรัดการดำเนินการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ AMRO โดยได้จัดทำความตกลงจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO Agreement) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 และความตกลงดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จึงทำให้ปัจจุบัน AMRO เปลี่ยนแปลงสถานะจากบริษัทจำกัดมาเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ AMRO นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยเนื่องจาก AMRO เป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกของภูมิภาคที่มีหน้าที่หลักในการเฝ้าระวัง ประเมิน และรายงานต่อสมาชิกเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจมหภาคและความมั่นคงทางการเงินของสมาชิก และระบุความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินและความเปราะบางในภูมิภาค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ AMRO สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ มาประเมินและเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ต่อไป