กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--การยางแห่งประเทศไทย
นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีความรุนแรง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีความห่วงใยสวนยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในแต่ละพื้นที่ ที่อาจขาดแคลนน้ำจนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งในช่วงแล้งเป็นช่วงที่อากาศร้อน และมีแสงแดดแรง เป็นสาเหตุทำให้ดินแห้ง และส่งผลกระทบต่อต้นยางพารา เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลสวนยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางปลูกใหม่ และสวนยางเล็ก อายุไม่เกิน 3 ปี ควรเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ช่วงแล้งประมาณ 1 เดือน โดยควรจัดการสวนยางอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่นการกำจัดวัชพืชในสวนยาง พร้อมทั้งหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นซากวัชพืช หญ้าคา หรือฟางข้าว มาคลุมโคนต้นยางเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน รวมถึงการตัดแต่งกิ่งต้นยางเพื่อลดแรงต้านลม และใช้ปูนขาวทาบริเวณที่ตัดแต่งกิ่ง ซึ่งการจัดการและหมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้
"พี่น้องชาวสวนยางควรการทำแนวกันไฟในสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามจากบริเวณใกล้เคียง โดยการขุดถากวัชพืชและเก็บซากพืชบริเวณรอบๆ สวนยาง ออกเป็นแนวกว้างประมาณ 3 - 5 เมตร และควรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางออกข้างละ 1 เมตร แล้วนำเศษวัชพืชมาคลุมโคนต้นยาง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในหน้าแล้ง เพราะวัชพืชที่แห้งตายอาจเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟไหม้สวนยางได้"
นอกจากนี้ แสงแดดในช่วงที่มีอากาศร้อนอาจทำให้ต้นยางพารามีรอยไหม้ เกษตรกรสามารถแก้ไขได้โดยใช้ปูนขาวละลายน้ำทาบริเวณโคนต้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร รวมถึงการปลูกพืชแซมในสวนยางที่ให้ความชุ่มชื้นกับดิน อาทิ กล้วย และสับปะรด ก็สามารถช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวสวนยางระหว่างช่วงปิดกรีดอีกทางหนึ่ง พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถขอคำปรึกษาการดูแลสวนยาง และข้อมูลที่สนใจเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน นายเชาว์กล่าวทิ้งท้าย