กทม.ประสานกรมควบคุมมลพิษจัดตั้งหน่วยฉุกเฉินดูแลย่านเสี่ยงภัยสารเคมี 4 พื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2001 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.44) เวลา 14.30 น. กรุงเทพมหานครได้จัดการแถลงข่าวเรื่อง ความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการจัดการและป้องกันสาธารณภัยจากสารเคมีและอุบัติภัย เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้บริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
นายกิตตินันท์ ขาวสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติภัย เนื่องมาจากสารเคมี ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น และสถานประกอบการที่มีการใช้ เก็บรักษาสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นในเขตบางแค เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน ย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นในเขตคลองสาน และเขตบางคอแหลม ย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นในเขตวังทองหลาง และเขตสวนหลวง และย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นในเขตคลองเตย และเขตพระโขนง หากเกิดอุบัติเหตุจากการรั่วไหล เพลิงไหม้ หรือระเบิด จากกิจกรรมการใช้ หรือเก็บสารเคมีอันตรายร้ายแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนสูง โดยเฉพาะอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลสามารถฟุ้งกระจายไปได้เป็นระยะทางไกลก่อให้เกิดอันตรายเฉียบพลันทันทีและรุนแรงมากกว่าอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้
อย่างไรก็ตาม ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมการจัดการและป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายไว้ โดยมีการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากสารเคมีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยขอรับการสนับสนุนจากกรมควบคุมมลพิษจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินประจำพื้นที่เสี่ยง 4 พื้นที่ ได้แก่
สำนักงานเขตตลิ่งชันดูแลพื้นที่เสี่ยงย่านบางแค บางบอน และบางขุนเทียน
สำนักงานเขตจอมทองดูแลพื้นที่เสี่ยงย่านคลองสาน และบางคอแหลม
สำนักงานเขตสวนหลวงดูแลพื้นที่เสี่ยงย่านเขตสวนหลวงและวังทองหลาง
สำนักงานเขตคลองเตยดูแลพื้นที่เสี่ยงย่านคลองเตยและพระโขนง พร้อมทั้งประสานกับการท่าเรือฯ เพื่อควบคุมการนำเข้าสารเคมีที่อันตรายร้ายแรงเข้าประเทศ อีกทั้งฝึกซ้อมการป้องกันและระงับภัยจากสารเคมีรั่วไหล ระเบิดหรือเพลิงไหม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ อปพร. อาสาสมัคร และผู้เกี่ยวข้องในการบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กทม.ยังได้เตรียมความพร้อมโดยการจัดเตรียมฐานข้อมูล และคู่มือด้านสารเคมีเพื่อใช้ในการป้องกันและระงับภัย พร้อมทั้งจัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อป้องกันและระงับภัย เมื่อเกิดเหตุสารเคมีชนิดใดรั่วไหล ก็จะสามารถแก้ไขและป้องกันรักษาชีวิตประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ได้แจ้งให้สำนักงานเขตต่าง ๆ ดำเนินการสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ว่ามีโรงงานสารเคมีประเภทใดตั้งอยู่ที่ไหน และกำชับให้เจ้าหน้าที่อนามัยและสิ่งแวดล้อมเขตฯ ออกตรวจตราโรงงานในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
นายสมโภชน์ ศรีประไหม ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สารเคมีแต่ละชนิดต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวมันเอง หากไม่ไปผสมกับสารชนิดอื่นที่ทำให้เกิดปฎิกิริยาเคมีก็จะไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม ทางกทม.ไม่นิ่งนอนใจได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านเพื่อพร้อมจะปฏิบัติการแก้ไขและบรรเทาภัยทันทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าร่วมระงับเหตุและแก้ไขปัญหาได้เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมาก ซึ่งถ้าจัดตั้งหน่วยฉุกเฉินจากสารเคมีในพื้นที่เสี่ยง 4 โซนแล้ว ก็จะช่วยให้การปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีดียิ่งขึ้น
หากประชาชนพบภาชนะบรรจุสารเคมีที่มีกลิ่น หรือคิดว่าน่าจะเป็นอันตราย ขอให้แจ้งกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าตรวจสอบที่โทรศัพท์หมายเลข 1555 และอย่าได้เข้าไปดำเนินการใด ๆ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยขอให้รอเจ้าหน้าที่เป็นผู้เข้าดำเนินการ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ