ขอเชิญร่วมประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเศียรพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตั้ง ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน

ข่าวทั่วไป Friday December 7, 2001 13:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--คณะศิษยานุศิษย์
การประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเศียรพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตั้ง เปิดแพร่คลุมพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และตัดลูกนิมิตอุโบสถ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
เนื่องในวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้จังหวัดลำพูน จะดำเนินการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเศียรพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตั้งจำลองซึ่งประดิษฐานที่มณฑป รวมทั้งทำการเปิดแพรคลุมพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ที่แท่นแก้วพระพุทธปฏิมาในวิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม และตัดลูกนิมิตอุโบสถ เวลา 17.00 น.
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงบรรจุพระสารีริกธาตุพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตั้งจำลอง ทรงเปิดแพรคลุมป้ายอักษรลงพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และทรงตัดลูกนิมิต อุโบสถ ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ดังนั้น ในโอกาสนี้จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านเผยแพร่งานพิธีดังกล่าวไปยังศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อได้เข้าร่วมประกอบพิธีในวันและเวลาดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน จักเป็นพระคุณยิ่ง และขอขอบคุณในความอนุเคราะห์จากท่านมา ณ โอกาสนี้
ประวัติย่อ
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
พระครูบาชัยลังกาได้เล่าประวัติพระพุทธบาทห้วยต้มให้พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาฟังว่าในตำนานคัมภีร์เดิมกล่าวไว้ว่า ปางเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพุทธบริษัทที่นี่ มีพญาลัวะอยู่บริเวณนี้ตนหนึ่ง ชื่อว่า แก้วมาเมือง และพญาคนหนึ่งมาจากเมืองเถิน มาเที่ยวที่นี่ แล้วยังมีพวกพรานเนื้อ 8 คน ไปล่าสัตว์ป่า ได้เนื้อมาคนละหาบ พอมาถึงที่นี่ก็เจอพระพุทธเจ้า พวกพรานเนื้อก็วางเนื้อไว้แล้วเข้าไปหาพระพุทธเจ้าพนมมือขึ้นถามว่า"ท่านเป็นอะไรถึงนุ่งห่มเหลืองแบบนี้" พระพุทธเจ้าตอบว่า"กูเป็นพระพุทธเจ้า" พรานก็กล่าวว่า"ดีกล่าว" และถามว่า "ท่านได้ฉันอาหารแล้วหรือ" พระพุทธเจ้าว่า "ยังไม่ได้ฉัน" พรานเนื้อทั้ง 8 คนก็เอาเนื้อที่หาบมาคนละชิ้นมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่รับเพราะว่ามันเป็นเนื้อสด หมอพรานก็เอากลับไปกองไว้ที่หนึ่ง แล้วพวกพรานก็หาบเอาเนื้อไปถึงห้วยแล้วพูดกันว่า"พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสด" พรานก็รีบเอาข้าวเอาผักไปต้มที่ข้างห้วย พอสุกแล้วก็เอามาใส่บาตรพระพุทธเจ้า พวกลัวะทั้งสองก็มาร่วมใส่บาตรด้วยพระพุทธเจ้าก็ฉันข้าวต้มแลัวก็เทศน์โปรดเมตตาให้ พวกพญาลัวะและพวกพรานเนื้อทั้ง 8 ได้ฟังเสียงพระพุทธเจ้าเทศน์ก็มีใจปีติยินดี มีศรัทธาเกิดขึ้น พญาลัวะและพรานทั้ง 8 คนก็ขอพระเกศาธาตุไว้เป็นที่สักการะแทนพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า"สถานที่นี้ไม่มีรูถ้ำ ให้ไม่ได้" พวกพญาลัวะและพวกพรานเนื้อทั้ง 8 คน ก็ขอรอยพระบาทอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า"ที่นี่ไม่มีหิน" พวกคนเหล่านั้นก็ขออาราธนานิมนต์ให้พระพุทธเจ้ารออยู่ที่นี่ก่อน พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไปเสาะหาหินมาให้พระพุทธเจ้าเหยียบ แล้วพรานเนื้อ 8 คนก็พากันไปเสาะพาหิน พอดีได้ 1 ลูก ก็พากันหามก้อนหินนั้นมาวางไว้ตรงหน้าพระพุทธเจ้า พ่อพญาลัวะทั้ง 2 คน กับพรานเนื้อ 8 คน ก็ขออาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบหินให้เป็นรอยพระบาท ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ ให้เป็นที่สักการะบูชาของพญาลัวะและพราน 8 คน พร้อมทั้งพุทธบริษัททั่วไป พระพุทธเจ้าก็ทำนายไว้ว่า"ห้วยที่พรานต้มข้าว วันหน้าเขาจะเรียกกันว่า ห้วยต้มข้าว" ปัจจุบันนี้คงเรียกว่า ห้วยต้ม
พระพุทธเจ้าก็สั่งพญาลัวะและพราน 8 คน มารักษาและปฏิบัติรอยพระบาทกูตถาคตนี้ไปเรื่อยๆ"ท่านทั้งหลายได้อุปฐากและปฏิบัติรอยพระบาทกูนี้ ก็เสมอดั่งได้ปฏิบัติกูตถาคต" แล้วพระพุทธเจ้ายังทำนายไว้อีกว่า"ในระยะครึ่งศาสนา 5,000 พระวัสสา จะมีพระหน้อย (สามเณรน้อย) จากเมืองตึ๋น ต๋นหนึ่ง จะมาสร้างพระพุทธศาสนาที่นี่ให้รุ่งเรืองต่อไป แล้วยังมีฤาษีชื่อ ส่างทุนมา ที่ติดตามพระพุทธเจ้ามา พระพุทธเจ้าก็มอบให้ฤาษีตนนั้นรักษารอยกูตถาคตนี้ไว้เรื่อย" แล้วพระพุทธเจ้าก็เอาไม้แทงลงที่พื้น ห่างจากรอยพระบาท 10 วา ให้เป็นน้ำบ่อทิพย์ น้ำก็ออกมาเรื่อยๆ ไม่มากไม่น้อย ให้ฤาษีอุปฐากรอยพระบาทกูตถาคตได้กินต่อไป
เมื่อพวกพญาลัวะและพราน 8 คนได้รับศีล 5 จากพระพุทธเจ้า เขาก็รักษาศีลไม่ทานเนื้อสัตว์ตราบชีวิตอายุของใครของมัน ต่อมาในสมัยหนึ่งได้มีกะเหรี่ยงผู้หญิงคนหนึ่งเข้าป่าเสาะหาเห็ด ได้พบเห็นรอยพระบาทในกลางป่าแล้วไปบอกต่อพ่อพญาลี้ พวกพ่อพญาลี้ได้พากันไปดูและได้สร้างมณฑปครอบรอยพระบาทไว้สักการะบูชา จนหมดเขตอายุของพญาลี้ มาภายหลังหลายสิบปี รอยพระพุทธบาทนั้นก็หายไปเพราะไม่มีใครมารักษา
อยู่ต่อมาสมัยหนึ่ง ก็มีผู้หญิงกะเหรี่ยงชื่อว่า ย่าผะแล มาหาผักและเห็ด ได้พบเห็นรอยพระบาทอีกก็กลับไปบอกให้ท่านครูบากิตติ ท่านมาจากอินเดียมาอยู่ที่วัดลี้หลวง ครูบากิตติได้ทราบเรื่องพร้อมกับศิษย์ทั้งหลายพากันไปดูว่าเป็นรอยพระบาทจริงๆ ท่านก็พากันกราบไหว้สักการะบูชา แล้วก็ช่วยกันสร้างมณฑปครอบรอยพระบาทไว้ จนหมดยุคไปยุคหนึ่ง รอบพระบาทนั้นก็หายไป เพราะไม่มีใครมาสักการะบูชา
ต่อมาอีกสมัยหนึ่ง มีกะเหรี่ยงผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า ย่าตา มาหาผัก ผลไม้ หาเห็ด จนมาเห็นรอยพระบาท มักก็กราบไว้แล้วกลับไปบอก ครูบามหาอิน พระครูลี้ ทราบเรื่องครูบามหาอินก็พาลูกศิษย์ พร้อมกับครูบาใจ วัดสันโปร่งพากันไปดูก็ว่าเป็นรอยพระบาทจริงๆ ก็พากันสักการะบูชา ต่อมาอีก 2-3 วัน ครูบามหาอินก็พาศิษย์และญาติโยมทั้งหลายมากวาดมาแผ้วถางหญ้าทำการบูรณะ ต่อมาเขาก็พากันมากราบสักการะบูชากันเรื่อยๆ หลังจากนั้นอีก 4-5 ปี ก็มาประชุมกันให้สร้างมณฑปขึ้นมาครอบรอยพระบาทห้วยต้ม ได้จัดให้ช่างชื่อว่า พ่อหนานเต๋จา บ้านนาเลี่ยง มาเป็นช่างสร้างมณฑปครอบรอบพระยาทกว้างประมาณ 7 ศอก มุงด้วยกระดานไม้เส๊าะ แล้วสร้างกำแพงอิฐรอบมณฑปทำเจดีย์เล็กๆ กว้าง 2 ศอก สูง 3 ศอก สร้างศาลาหนึ่งหลังกว้าง 4 ศอกยาว 12 ศอก มุงด้วยกระดานไม้เส๊าะ ปลูกต้นลาน 7 ต้น แวดล้อมพระพุทธบาท ปลูกดอกจุ๋มป๋าลาว (ดอกลั่นทม) 8 ต้น และมะม่วงอีก 4 ต้น
ต่อมา พ.ศ. 2513 พวกชาวเขากะเหรี่ยงก็ได้พากันอพยพมาอยู่ใกล้บริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นจำนวนประมาณ 1,200 ครอบครัว ได้มาถือศีลกินเจไหว้พระสวดมนต์มาเรื่อยๆ ปฏิบัติตามคำสอนของอาตมาชัยยะวงศาถึงปัจจุบัน
สำหรับการก่อสร้างศาสนสถานที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ที่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการพัฒนาถาวรวัตถุต่างๆ อย่างมากมาย อาทิ กุฏิสงฆ์ ศาลาอเนกประสงค์ วิหารครอบรอยพระพุทธบาท พระธาตุเจดีย์ และพระอุโบสถ ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นต้น--จบ--
-ปส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ