เรื่อง ผลการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหา Y2K

ข่าวทั่วไป Monday March 6, 2000 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ธนาคารแห่งประเทศไทย
จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ในช่วงวิกฤต (ศบป.) ขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหา Y2K ที่อาจเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในช่วงวันที่ 9 กันยายน 2542 และช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ที่ผ่านมา ซึ่งไม่พบปัญหาแต่อย่างใดนั้น
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ในช่วงวิกฤต (ศบป.) เพื่อเฝ้ามองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน จากการที่ปฏิทินของเครื่องคอมพิวเตอร์บางเครื่องอาจคำนวณวันที่ตามปีอธิกสุรทินไม่ถูกต้อง ( ปีอธิกสุรทิน เป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์ มี 29 วัน และหารด้วย 4 ลงตัว ยกเว้นปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วย 00 จะต้องหารด้วย 400 แทน เช่น ปี ค.ศ. 1900 หารด้วย 400 ไม่ลงตัว จึงไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ )
ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามระบบงานของสถาบันการเงินต่าง ๆ จำนวน 88 สถาบัน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่ง บริษัทเงินทุน 22 แห่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 8 แห่ง บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 10 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 21 แห่ง และสำนักงานวิเทศธนกิจ 14 แห่ง ตั้งแต่สิ้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 การปิด-เปิดระบบและการปฏิบัติงานประจำวัน เป็นไปได้ตามปกติ ส่วนระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เองนั้น สามารถเปิด-ปิด และ ทำงานได้ตามปกติเช่นกัน
และจากการติดตามสถานการณ์ปัญหา Y2K ของต่างประเทศ พบว่าระบบ Post Banking ของประเทศญี่ปุ่น บางเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากปัญหา Y2K
ดังนั้น จากการติดตามสถานการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา ปี ค.ศ. 2000 มาตลอดทั้ง 3 ช่วง กล่าวได้ว่า ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างราบรื่น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ