กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงาน พร้อมปันน้ำให้เกษตรกรพืชสวนพืชไร่รอบโรงงานแปรรูปและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดผลกระทบภัยแล้ง
นายสุชาติ วิริยะอาภารองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนรอบข้าง ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่แหล่งน้ำเดียวกัน และได้นำเครื่องมือที่เป็นสากลมาใช้ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ เครื่องมือของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการขาดน้ำสำหรับการผลิตและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะเดียวกัน บริษัทมีมาตรการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำสำรองที่เชื่อถือได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกขั้นตอนให้ดียิ่งขึ้น การวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จัดทำแผนฉุกเฉินหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักและไม่กระทบต่อชุมชนรอบข้าง และประสานติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
ซีพีเอฟยังนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีคุณภาพตามกฎหมายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด กลับมาใช้ในส่วนอื่นๆ นอกกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น รดต้นไม้และสนามหญ้า ใช้ทำความสะอาดพื้นบริเวณรอบโรงงาน อาทิ พื้นถนน ลานจอดรถ และใช้ในระบบชะล้างในห้องน้ำ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์น้ำตามแนวทางการใช้ซ้ำ (Reuse) ช่วยลดการนำน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ และกำลังศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้โรงงานสามารถนำน้ำหลังบำบัดกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า โรงงานแปรรูปได้แบ่งปันน้ำหลังการบำบัดให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชผัก ในชุมชนรอบข้างโรงงาน ขณะเดียวกันยังมอบน้ำดิบที่โรงงานผลิตได้ให้ชุมชนในยามวิกฤติแล้ง ล่าสุดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งท่อประปาแก่ชุมชนหมู่ที่ 2 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน
ด้าน นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมจึงไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์น้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรม "ส้วมน้ำ" ที่ช่วยแบ่งแยกจุดขับถ่ายในคอกเลี้ยงสุกรทำให้พื้นคอกสะอาด ช่วยลดการใช้น้ำในการล้างคอก ขณะเดียวกันน้ำในส้วมน้ำเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียเกิดเป็นแก๊สชีวภาพใช้ในการปั่นไฟกลับมาใช้ในฟาร์ม
นอกจากนี้ หลังกระบวนการบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊สแล้ว ยังได้ "น้ำปุ๋ย" ซึ่งเป็นน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับนำไปใช้รดต้นไม้และแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานได้รับประทานผักคุณภาพดี และมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม ตลอดจนนำน้ำที่บำบัดแล้วมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้ในการล้างเล้าทดแทนการใช้น้ำดี โครงการนี้ทำให้สายธุรกิจสุกรสามารถลดการใช้น้ำในส่วนดังกล่าวลงปีละ 5% ในปี 2015 สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 750,000 คิว คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท
นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในบริเวณรอบฟาร์ม ด้วยการแบ่งปัน "น้ำปุ๋ย" เพื่อนำไปรดไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนกล้วย ไร่ไผ่ตง และหญ้าขนเลี้ยงวัวชน ช่วยบรรเทาความเดือนร้อน และยังช่วยเพิ่มผลผลิตจากคุณภาพของน้ำที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนิเซียม และโซเดียม
"ผลการตรวจคุณภาพของน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีแร่ธาตุที่พืชต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมที่มีสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมีไนโตรเจนถึง 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชที่ได้รับน้ำปุ๋ยเติบโตเร็วและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ซีพีเอฟภูมิใจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งของทุกปีให้กับเกษตรกรมานานกว่า 10 ปี" นายสมพร กล่าว
นายสมพร ยังแนะนำการจัดการน้ำในฟาร์มเกษตรกรด้วยว่า เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอกับปริมาณสัตว์ที่เลี้ยง น้ำต้องมีคุณภาพดี ใส สะอาด รสชาติไม่เค็ม และต้องใช้สารส้มปรับคุณภาพน้ำก่อนใช้ ในอัตราส่วนสารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยความเข้มข้น 3 - 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) สำหรับในโรงเรือนสุกรที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรมีการขังน้ำไว้ให้พอดีด้วย