กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--IR network
บมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น (FVC) ต่อยอดธุรกิจบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ เปิดคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม เคที เมดิคอล เซอร์วิส (พัฒนาการ) ดำเนินธุรกิจในนาม บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด โดย FVC ถือหุ้นใหญ่ 70% มั่นใจช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ระบุพร้อมให้บริการเบื้องต้น 15 เตียง ฟอกเลือดได้วันละ 4 รอบ คาดภายในปีนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 120 ราย เล็งปี 2561 เปิดเฟส 2 อีก 15 เตียง และคาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก2 สาขา ภายในปีนี้ คาดปีแรกทำรายได้ 9-10 ล้านบาท
ดร. วิจิตร เตชะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) (FVC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยเน้นการผนึกกำลังทางธุรกิจของบริษัทในเครือให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Synergy Business) และจากการที่บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เป็นผู้นำธุรกิจเกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์สำหรับหน่วยไตเทียมและน้ำยาไตเทียม ไปยังการให้บริการฟอกเลือด ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถประสาน(Synchronize)ได้เป็นอย่างดี ล่าสุดบริษัทจึงได้ลงทุนจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด ขึ้นเพื่อบริหารงานและดำเนินธุรกิจด้านไตเทียม โดยได้เปิดทำการ คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม เคที เมดิคอล เซอร์วิส (พัฒนาการ) ตั้งอยู่บริเวณ ถนนพัฒนาการ ซอย 3 ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากพื้นที่กรุงเทพชั้นใน สะดวกต่อการเดินทางสำหรับผู้ป่วย เพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม เคที เมดิคอล เซอร์วิส (พัฒนาการ) FVC เข้าถือหุ้น 70% ใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 27 ล้านบาท โดยจะสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วย จำนวน 2 เฟส อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้เปิดให้ในบริการในส่วนของเฟสแรกก่อน จำนวน 15 เตียง ฟอกเลือดได้จำนวน 4 รอบต่อวัน ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้สูงสุดถึง 120 คน อัตราค่าบริการฟอกเลือดครั้งละ 1500 บาท ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิบัตรประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน โดยทางคลินิก คาดว่าจะมีผู้ป่วยเต็มจำนวนสูงสุดได้ภายในเวลา 1 ปี
โดยคลินิกเวชกรรมไตเทียมนี้เฟสที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยฟอกเลือดได้ 12-15 เตียง รองรับผู้ป่วยได้สูงสุด 96-120 คน โดยฟอกเลือดได้สูงสุดจำนวน 4 รอบต่อวัน
นอกจากนี้ ที่คลินิกยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ปรับปรุง ซึ่งสามารถมีทางเลือกในการใช้พื้นที่เป็น คลินิกชะลอไตเสื่อม และคลินิกโรคไตเรื้อรัง และการบำบัดทดแทนไตโดยวิธีการล้างช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับห้องประชุม ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการสาธิตและฝึกอบรม ผู้ป่วยและญาติ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยและงานวิชาการ
ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า ในการเปิดคลินิกเวชกรรมไตเทียม แห่งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ในปีแรกที่ 9-10 ล้านบาท และหากเปิดให้บริการไปจนสามารถรองรับคนไข้ได้เต็มที่คาดว่าจะทำรายได้ปีละ 24 ล้านบาท ซึ่งมาจากทางคลินิกมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจาก Synergy Business กับธุรกิจของบริษัทย่อยทั้งระบบบำบัดน้ำบริสุทธิ์สำหรับหน่วยไตเทียม และน้ำยาไตเทียม ซึ่งจากการลงทุนในคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียมนี้จะทำให้ธุรกิจเข้าถึงผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้โดยตรง เสริมวงจรธุรกิจให้เข้มแข็มยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการเปิดคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม เคที เมดิคอล เซอร์วิส (พัฒนาการ) ถือเป็นการเปิดทำการสาขาแรก และตั้งเป้าว่าจะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาภายในปีนี้ โดยจะอยู่ที่ กทม. 1 สาขา และต่างจังหวัดอีก 1 สาขา
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการเติบโตของธุรกิจจะไปได้ดีเพราะ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันมีคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17% ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งการรักษาคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ด้วยข้อจำกัดโดยเฉพาะการขาดแคลนผู้บริจาคไต นอกจากค่าผ่าตัดที่ยุ่งยากแล้ว ทำให้แต่ละปีทั่วประเทศสามารถปลูกถ่ายไตได้เพียงปีละ 400 รายเท่านั้น ขณะที่มีผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนถ่ายไตใหม่ถึง 40,000 ราย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเหล่านี้จึงต้องทำการล้างไตเพื่อยืดอายุ ไม่ให้เสียชีวิต
"ทางบริษัทฯได้ให้บริการด้านระบบบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์สำหรับหน่วยไตเทียมมาเป็นเวลานาน จึงเล็งเห็นว่าการฟอกเลือดมีความจำเป็นกับคนไข้ แต่ศูนย์ให้บริการยังมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ทางบริษัทฯจึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มช่องทางในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เปิดคลินิกนี้ขึ้นมา ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ที่เข้ารับการรักษา ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจ เพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ และกระจายความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจในอนาคต" ดร. วิจิตร กล่าวในที่สุด