กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--Index Creative Village
นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูลไอเดียเริ่ด!! พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทุ่นแรง การทำงานเพื่อเอาใจชาวสวนปาล์ม ดัดแปลงขดลวดมอเตอร์ไซค์ เป็นอุปกรณ์เก็บผลปาล์ม-ผลยางพาราที่ตกหล่นเพียง "กดแล้วเก็บ" ใช้ง่าย ราคาประหยัด ไม่ต้องก้มเก็บให้ปวดหลัง ปลอดภัยต่อชีวิต รับรางวัลแชมป์ภาคโครงการ "กรุงไทย ยุววาณิช" ครั้งที่ 14ประจำปี 2558
ปัญหาการเก็บเกี่ยวผลปาล์มและยางพารา โดยใช้เสียมแทงทะลายปาล์มออกจากขั้ว ส่งผลให้ต้องใช้กำลังในการส่งแรงกระแทกให้ทะลายปาล์มขาดจากขั้วหล่นลงมาบนพื้นในปริมาณที่มาก ส่งผลให้ชาวสวนต้องสูญเสียรายได้จากผลปาล์มร่วง ซึ่งมีราคาที่สูงกว่า ราคาปาล์มที่ขายถึง 30% ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียรายได้ดังกล่าว จึงต้องใช้แรงงานคนในการเก็บ เสียเวลา เสี่ยงกับสัตว์ร้ายที่มีพิษ และที่สำคัญการก้มเก็บผลปาล์มร่วง อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยมีผลต่อสุขภาพร่างกาย เพราะทุกผลผลิตคือเงินที่จะมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ ศราวุธ สำลี นักศึกษาภาควิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสตูล เจ้าของแนวคิด และเพื่อนๆ ร่วมกันจัดตั้งบริษัท สหายเกษตร จำกัด เพื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่อยอดความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาช่วยเก็บผลปาล์มและเมล็ดยางพาราหล่น โดยที่ไม่ต้องก้มลงไปเก็บให้ปวดหลังอีกต่อไป จนสามารถคว้ารางวัลแชมป์ภาค ในการประกวดโครงการ"กรุงไทย ยุววาณิช" ครั้งที่ 14 ประจำปี 2558 ที่ผ่านมา
ศราวุธ สำลี เล่าว่า เดิมทางวิทยาลัยเทคนิคสตูล มีการผลิตและคิดค้นนวัตกรรมอุปกรณ์เก็บผลปาล์มร่วงและเมล็ดยางพารา โดยต่อยอดจากการคิดค้นครั้งแรกเมื่อปี'56 ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และมีน้ำหนักที่เบาลง โดยเพิ่มรูปแบบเป็นด้ามสไลด์พับเก็บได้ แต่ยังคงหลักการทำงานเดียวกัน โดยนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ได้แก่ ยางรถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาทำเป็นสินค้าโดยยึดหลักการยืดหยุ่นของเส้นลวดเปียโน นำมาประกอบกับหัวเก็บให้มีความโค้ง และความห่างที่เหมาะสม เพียงแค่ "กดและเก็บ" โดยตั้งราคาขายไว้ที่ 399 บาท ราคาขายส่ง 350 บาท
"การทำอุปกรณ์แบบนี้ออกมาส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม เพราะผลปาล์มพวกนี้ขายได้เงินมากกว่าทะลายปาล์มเสียอีก โรงงานไม่ต้องเสียเวลานำไปฟาดออกจากทะลายปาล์ม แต่ชาวบ้านบางส่วนกลับเลือกทิ้งเงินส่วนนี้ไปเพราะไม่มีเวลาเก็บ แถมยังต้องเสี่ยงกับการปวดหลังเพราะต้องก้มลงไปเก็บจากพื้นเป็นเวลานานๆ ซึ่งอุปกรณ์ของเราถูกพัฒนามาให้ใช้งานได้ง่ายไม่ว่าจะคนแก่ หรือเด็ก เพียงแค่กลงไปเบาๆ ก็สามารถเก็บลูกปาล์ม แล้วเทออก เพื่อรวบรวมขายต่อไปได้อย่างง่ายดาย"นายศราวุธ กล่าว
ท้ายสุด ศราวุธ เผยว่า อุปกรณ์เก็บลูกปาล์มและลูกยางพาราได้รับเสียงตอบรับอย่างดี จากเกษตรกร รวมไปถึงสนามไดรฟ์กอล์ฟต่างๆ ที่มียอดสั่งจองมายังวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากจะเก็บผลปาล์มและผลยางพาราได้แล้ว ยังพัฒนาให้สามารถเก็บลูกกอล์ฟได้อีกด้วย