กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ระยะยาวที่ระดับ “A-(tha)” และระยะสั้นที่ระดับ “F2(tha)” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ จากการที่บริษัทได้ดำเนินการเจรจาเพื่อขอยืดระยะเวลาการเริ่มชำระคืนเงินต้นของเงินกู้ระยะยาวเนื่องจากความล่าช้าในการเปิดดำเนินการของสนามบินแห่งใหม่ออกไปเป็นช่วงกลางปี 2549 ฟิทช์ยังให้ความเห็นต่อว่าผลการดำเนินงานของ BAFS ในปี 2548 ยังมีความแข็งแกร่ง
ตามที่ BAFS เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท เพื่อขอยืดระยะเวลาการเริ่มชำระคืนเงินต้นของเงินกู้ระยะยาว 8 ปี จำนวน 2.0 พันล้านบาท อันเป็นผลจากความล่าช้าในการเปิดดำเนินการของสนามบินแห่งใหม่หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ตามเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือสัญญากู้ยืม BAFS มีกำหนดที่จะต้องชำระคืนเงินต้นเป็นรายไตรมาสตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2556 ขณะนี้ BAFS ได้ยื่นข้อเสนอต่อ BBL เพื่อขอยืดระยะเวลาการเริ่มชำระคืนเงินต้นออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2557 ผู้บริหารระดับสูงของ BAFS ระบุว่าการยืดระยะเวลาการเริ่มชำระคืนเงินต้นดังกล่าวจะไม่เป็นการละเมิดเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้อื่นๆของบริษัท BAFS คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกับทาง BBL ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ BAFS น่าจะยังคงสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการชำระเดิม แม้ว่าอาจทำให้ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลลดลง
ฟิทช์ได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการเปิดดำเนินงานที่ล่าช้าของสนามบินแห่งใหม่จนถึงกลางปี 2549 แล้ว แต่ถ้าการเปิดดำเนินการของท่าอากาศยานแห่งใหม่มีความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้อีก จะส่งผลให้ BAFS มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงนานกว่าที่คาดไว้และเป็นการลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของ BAFS ซึ่งอาจมีผลกระทบกับอันดับเครดิตของบริษัทได้
ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2548 BAFS มีรายได้สุทธิ 873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มค่าบริการเติมน้ำมันอากาศยานอีกร้อยละ 10 ในเดือนพฤศจิกายนปี 2547 ขณะที่ BAFS มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นจำนวน 551 ล้านบาทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากการลงทุนใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดย BAFS มีระดับหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 3.2 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่สามปี 2548 จาก 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA)ได้ลดความแข็งแกร่งลงมาที่ระดับ 4.4 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2548 จากระดับ 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2547 ระดับของ Net Debt/EBITDAของ BAFS คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5.0 เท่า ณ สิ้นปี 2548 และ 4.0 เท่าในปี 2549 โดยอัตราส่วนหนี้สินที่สูงนี้น่าจะเป็นการชั่วคราว การเปิดดำเนินการของสนามบินสุวรรณภูมิจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวลงมาที่ระดับ 2.0-2.5 เท่าในปี 2550/2551
BAFS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจร ณ สนามบินดอนเมืองแต่เพียงผู้เดียว โดยดำเนินธุรกิจตั้งแต่ด้านคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจนถึงการบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่เครื่องบิน (Into-plane) โดย BAFS มีสัดส่วนการให้บริการกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานทั้งประเทศ ในส่วนของการลงทุนที่สนามบินสุวรรณภูมิ BAFS จะเป็นผู้ให้บริการแต่เพียงรายเดียวสำหรับคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและระบบท่อส่งน้ำมันอากาศยานระบบ Hydrant ในขณะที่ BAFS เป็นหนึ่งในสองรายที่ได้รับสัมปทานระบบเติมน้ำมันแก่เครื่องบิน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAFS ประกอบด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 22.6 และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ประกอบด้วย บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บมจ. เอสโซ่ ประเทศไทย บจก. น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) บจก. เชลล์แห่งประเทศไทย บจก. แอร์โททาล (ประเทศไทย) และ ExxonMobil Aviation Inc.โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันร้อยละ 40 BAFS จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ ปี 2545 และมีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเท่ากับ 3.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2548
ติดต่อ
วสันต์ ผลเจริญ, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, Vincent Milton +662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--