กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปฏิรูปพุทธศาสนา" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2559 จากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปพุทธศาสนา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.25 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 30.35 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ แต่ ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 21.96 ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการปฏิรูปพุทธศาสนาเลย ร้อยละ 3.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีร้อยละ 52.60 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 24.34 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ แต่ ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 19.30 ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการปฏิรูปพุทธศาสนาเลย ร้อยละ 3.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประสิทธิภาพในการทำงานของมหาเถรสมาคมในการดำเนินงานเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 10.62 ระบุว่า มหาเถรสมาคมดำเนินงานเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์มีประสิทธิภาพสูง รองลงมา ร้อยละ 27.48 ระบุว่า ดำเนินงานค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.83 ระบุว่า ดำเนินงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 16.29 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย และร้อยละ 10.78 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีร้อยละ 10.49 ระบุว่า มหาเถรสมาคมดำเนินงานเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์มีประสิทธิภาพสูง ร้อยละ 25.30 ระบุว่า ดำเนินงานค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.87 ระบุว่า ดำเนินงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 19.13 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย และร้อยละ 11.21 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุ/ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 46.33 ระบุว่า พระสงฆ์ตัดไม่ขาดจากทางโลกแต่มาออกบวช รองลงมา ร้อยละ 30.83 ระบุว่า การปกครองภายในวัดไม่มีประสิทธิภาพทำให้มีข่าวฉาวเป็นประจำ เช่น พระสงฆ์เสพยาบ้า ดื่มสุรา ยุ่งสีกา ร้อยละ 29.63 ระบุว่า พระสงฆ์หลงในวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม ร้อยละ 24.36 ระบุว่า พระสงฆ์ยุ่งการเมือง/เลือกข้าง ร้อยละ 18.45 ระบุว่า พระสงฆ์หลงในลาภ ยศ สรรเสริญและตำแหน่งทางสงฆ์ ร้อยละ 15.02 ระบุว่า วัดมีความเป็นพุทธพาณิชย์/เน้นวัตถุนิยม ร้อยละ 13.42 ระบุว่า ญาติโยม/ลูกศิษย์ชอบชักนำให้พระสงฆ์ประพฤติหรือทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือผิดหลักพระธรรมวินัย ร้อยละ 12.78 ระบุว่า พระสงฆ์ไม่อยู่ในหลักพระธรรมวินัยพูดจาไม่สุภาพ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ร้อยละ 9.82 ระบุว่า องค์กรที่ดูแลพุทธศาสนาอ่อนแอขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบป้องกัน ร้อยละ 8.87 ระบุว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดโดยทั่วไปในปัจจุบันไม่มีความโปร่งใส ร้อยละ 8.07 ระบุว่า วัดและพระสงฆ์มีการแบ่งชั้นวรรณะ ร้อยละ 7.91 ระบุว่า พระสงฆ์มีคำสอนที่บิดเบือนรวมถึงการโฆษณาอภินิหารเกินความจริง (อวดอุตริมนุสธรรม) ร้อยละ 6.47 ระบุว่า วัดและพระสงฆ์เน้นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์มากกว่า คำสอนทางพุทธศาสนา ร้อยละ 4.95 ระบุว่า คนบวชเป็นพระเพราะไม่มีอะไรจะทำ จึงเกาะวัดกิน ร้อยละ 4.07 ระบุว่า พระสงฆ์หลงตัวเอง ร้อยละ 3.83 ระบุว่า ญาติโยม/ลูกศิษย์ หลงใหลในพระสงฆ์หรือวัดจนขาดสติ ไม่พิจารณาให้รอบครอบว่า วัดมีคำสอนที่บิดเบือนหรือไม่ พระสงฆ์ปฏิบัติอยู่ในหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ ร้อยละ 3.19 ระบุว่า วัดโฆษณาชวนเชื่อให้คนทำบุญเกินตัว/เกินเหตุจำเป็น มีการเลือกคนทำบุญเฉพาะคนรวย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า พระสงฆ์ไม่สามารถปกครองกันเองได้ ร้อยละ 2.56 ระบุว่า พุทธศาสนาในปัจจุบันไม่มีปัญหาใดๆเลย ร้อยละ 0.40 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ จากทั้งตัวชาวบ้านและพระสงฆ์เองที่ไม่มีการคัดกรองพระที่มาบวชทำให้ได้พระสงฆ์ที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งพระปลอมเยอะและเกี่ยวข้องผลประโยชน์ คนเลยไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญจึงทำให้ศาสนาดูไม่สำคัญ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่มีความเห็น
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.03 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.64 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.97 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.54 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.84 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.08 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 5.83 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 17.09 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 25.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.91 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.85 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 19.56 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 77.64 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 1.04 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.67 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.92 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.67 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.27 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.47 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.00 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 13.74 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.82 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.56 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.78 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.58 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.65 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.72 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.42 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.77 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.43 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.58 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.59 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.55 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 5.67 ไม่ระบุรายได้