กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการชุมนุม/ยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 ถึง 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า นับแต่อดีตพระสงฆ์ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่มีความเชื่อศรัทธาในพุทธศาสนานั้นให้ความเคารพนับถือยกย่อง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีกิริยาสำรวม ศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา และนำมาเผยแผ่ให้ผู้คนทั่วไปในสังคมได้ยึดถือและปฏิบัติตาม นอกจากนี้พระสงฆ์ยังถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้จึงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนให้ข้อคิดข้อปฏิบัติรวมถึงช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยเหตุดังกล่าวผู้คนในสังคมไทยนับแต่อดีตโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนจึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระสงฆ์และให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังอย่างมาก
แต่ในปัจจุบันมีกระแสข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมและความประพฤติของกลุ่มพระสงฆ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งกระแสข่าวประเภทหนึ่งที่เริ่มมีปรากฎบ่อยครั้งขึ้นคือข่าวเกี่ยวกับกรณีที่พระสงฆ์ชุมนุมหรือเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ทำให้ผู้คนในสังคมต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของพฤติกรรมในการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์รวมถึงตั้งคำถามว่าใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ และแสดงความห่วงใยถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่าอาจส่งผลกระทบให้ผู้คนในสังคมเสื่อมความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์รวมถึงเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนและมีความคิดเห็นว่าเป็นสิ่งที่พระสงฆ์สามารถกระทำได้
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการชุมนุม/ยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ โดยได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,149 คน
ศ. ดร. ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.91 และร้อยละ 49.09 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้และความสนใจต่อข่าวเกี่ยวกับกรณีพระสงฆ์ชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.41 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับกรณีที่พระสงฆ์ชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆมากขึ้นกว่าในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.89 ไม่รู้สึกว่ามีเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.7 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.69 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับกรณีพระสงฆ์ชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆบ้าง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.85 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.46 ยอมรับว่าตนเองไม่ให้ความสนใจติดตามเลย
ส่วนความรู้สึกต่อข่าวเกี่ยวกับกรณีพระสงฆ์ชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ทันทีที่ได้รับ/ได้ยินข่าวเกี่ยวกับกรณีพระสงฆ์ชุมนุม/ยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 25.33 รู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญใจเป็นอันดับแรก รองลงมารู้สึกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์คิดเป็นร้อยละ 20.28 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.1 ร้อยละ 10.79 และร้อยละ 9.23 ระบุว่าตนเองรู้สึกหดหู่/เศร้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และรู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริงตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.22 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.26 มีความรู้สึกอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.79 รู้สึกเฉยๆรู้สึกโกรธ/โมโห
สำหรับความคิดเห็นต่อการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.45 ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์หากการชุมนุมหรือยื่นหนังสือนั้นเป็นไปด้วยความสงบ ไม่สร้างความรุนแรงเดือดร้อนวุ่นวาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.37 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.18 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อกระแสข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์นั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.54 มีความคิดเห็นว่าข่าวการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ได้มีส่วนทำให้ตนเองลดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 71.19 มีความคิดเห็นว่าข่าวการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ได้มีส่วนทำให้ตนเองเข้าวัดทำบุญ/ใส่บาตรน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.66 มีความคิดเห็นว่าข่าวการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ได้มีส่วนทำให้ความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ของตนเองลดลง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.39 มีความคิดเห็นว่าข่าวการชุมนุมหรือยื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นต่างๆของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจะมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกของพุทธศาสนิกชนมากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.73 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.88 ไม่แน่ใจ ศ.ดร. ศรีศักดิ์กล่าว