กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานในเชิงภูมิศาสตร์ แบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเป็นวัฏจักรของราคาน้ำตาล ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยรวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของธุรกิจในต่างประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป การมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างมากจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะสั้นมีอยู่ไม่มากเนื่องจากการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังไม่มีเสถียรภาพ
บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2557/2558 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 3.97 ล้านตัน
บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2557/2558 โรงงานในประเทศไทยของบริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.4% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.06 ล้านตันในปีการผลิต 2557/2558 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาว และในประเทศออสเตรเลียผลิตน้ำตาลรวมกันได้ 0.7 ล้านตันในฤดูการผลิต 2557/2558 นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยรวมถึงขยายไปธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้และธุรกิจโลจิสติกส์
ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 89,378 ล้านบาท ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุดคิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 44% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียมีสัดส่วน 7% รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลคิดเป็น 15% ของรายได้รวม
การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ท่ามกลางราคาน้ำตาลทรายที่ลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาขายน้ำตาลทรายที่ลดลง 12.9% แต่ผลกระทบดังกล่าวได้รับการชดเชยจากการฟื้นตัวของธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนและธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ในขณะที่ธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ายังคงสร้างกำไรในระดับที่ดีต่อเนื่อง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทรวมกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า ปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากเนื่องจากต้นทุนอ้อยที่ลดลง 9% ขณะที่ราคาขายน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น 31.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตน้ำตาลในประเทศจีนลดลงมากกว่า 10% จากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ลดลงและอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลในประเทศไทยยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ส่วนธุรกิจวัสดุทดแทนไม้มีอัตรากำไรที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ 14,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานทรงตัวอยู่ที่ 11,410 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 775 ล้านบาทแต่บริษัทได้รับเงินชดเชยจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิต 2557/2558 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งตาม พรบ. อ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาลตามระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ขณะที่ชาวไร่ไม่ต้องคืนส่วนต่างราคาอ้อย เงินชดเชยนี้ทำให้บริษัทมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 7.5 เท่าถือว่าน่าพอใจในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ในภาวะตกต่ำ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 19.1% ในปี 2557 และ 22.0% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 48%-51% ในช่วงสิ้นปี 2555 จนถึงเดือนกันยายน 2558
ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกได้ฟื้นตัวขึ้นจากราคาเฉลี่ย 12 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มาอยู่ในระดับ 13-15 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงต้นปี 2559 การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลทรายส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกอาทิ เช่น ประเทศไทย อินเดีย จีน มีผลผลิตน้ำตาลลดลงในฤดูการผลิต 2558/2559 ทำให้ดุลน้ำตาลของโลกในฤดูการผลิต 2558/2559 อยู่ในสถานะขาดดุลเป็นปีแรกหลังจากที่น้ำตาลโลกเกินดุลมา 5 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน การอ่อนค่าของเงินเรียลของประเทศบราซิลรวมถึงแนวโน้มผลผลิตน้ำตาลที่จะสูงขึ้นของประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ในกรณีฐานคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนประจำเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัทได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เพิ่มกำลังการหีบน้ำตาลรวม 84.000 ตันอ้อยต่อวัน คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทซึ่งจะมีการทยอยลงทุนเป็นลำดับ ดังนั้นคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับ 20%-25% และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 6-7 เท่า
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC179A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
MPSC199B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
MPSC209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC186A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 126 ล้านหยวน ไถ่ถอนปี 2561 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable