กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางเผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555-2557 เพื่อให้ส่วนราชการรัฐวิสากิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้อย่างต่อเนื่อง และมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1.มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2557 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เฉพาะในส่วนของโครงการที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2557 ที่กันไว้เหลื่อมปีได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันได้ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2559 เท่านั้น หากพ้นจากห้วงเวลาดังกล่าวแล้ว หน่วยงานใดยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ ให้เงินประมาณดังกล่าวพับไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณในประเด็นการเปลี่ยนแปลงรายการที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีไปดำเนินการต่อไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จำนวน 8,600 ล้านบาท
2. ในกรณีที่หน่วยงานใดยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อ (รวมถึงโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้พับไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 (เรื่อง การขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2558) ด้วย) ก็ให้เสนอขอตั้งงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ให้กระทรวงการคลังรายงานผลการพิจารณาและติดตามการก่อหนี้ผูกพันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2557 ของหน่วยงานที่ได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
ทั้งนี้ เงินงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2557 ที่ก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2559 กระทรวงการคลังจะอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินต่อไปถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2559
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2559 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า งบประมาณภาพรวม เบิกจ่ายได้แล้ว 1,166,129.21 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.87 รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายได้ 1,060,583.49 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,175,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 48.75 และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายได้ 105,545.72 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 544,354 หรือคิดเป็นร้อยละ 19.39 โดยสามารถเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของงบประมาณปี 2558 ที่เบิกจ่ายได้เพียง 1,079,897.29 ล้านบาท ส่งผลให้การเบิกจ่ายภาครัฐได้ตามเป้าหมายตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
"ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2559 กรมบัญชีกลางจะเร่งดำเนินการและสานต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นางสาวอรนุช กล่าว