กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--โฟร์ พี.แอดส์ (96)
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียที่อำเภอแม่สอดและอำเภอท่าสองยาง จ.ตากและกล่าวว่าโรคมาลาเรียยังถือว่ายังเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ จากรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO) ทั่วโลกมีคนป่วยโรคมาลาเรียประมาณ 214 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากการรายงานที่ผ่านมา 4 แสนกว่าราย สำหรับที่จังหวัดตากมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียใน 9,777 ราย เป็นคนไทยเพียงร้อยละ 15.7 นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติชาวพม่า และกะเหรี่ยง อำเภอที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ อำเภอแม่สอดร้อยละ 29.5,พบพระร้อยละ 23.5,ท่าสองยางร้อยละ 18.2, อุ้มผางร้อยละ 14.7 และแม่ระมาดร้อยละ 10.6
ในภาพรวมไทยถือเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคมาลาเรียเป็นอย่างมาก และอยู่ในระดับนำหลายประเทศ ด้วยมาตรการการทำงานที่อาศัยการความร่วมมือกันหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมภายใต้แนวคิดประชารัฐคือรัฐร่วมกับประชาชนในการทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศ จากปี 2543 ที่มีผู้ป่วย 150,000 กว่าราย ไทยสามารถควบคุมโรคมาลาเรียเหลือผู้ป่วย เพียง 24,850 รายในปี 2558 ปัจจุบันพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันรายและจะยังคงทำต่อไปทำอย่างเข็มแข็ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นให้ประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันราย ยกระดับนโยบายด้านมาลาเรียจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดกำจัดโรคมาลาเรีย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียระยะ10 ปีขึ้น และจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการกำจัดโรคมาลาเรียแห่งชาติในเร็วๆนี้ เพื่อยกชั้นการควบคุมมาลาเรียจากเดิมควบคุมไปสู่การกำจัด ตั้งเป้ากำจัดโรคมาลาเรียให้หมดจากประเทศในระยะเวลา 10 ปี เริ่มจากปี2560 ไปสิ้นสุดที่ปี2569 เป้าหมายคือ"จะต้องไม่มีอำเภอที่มีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง" ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคมาลาเรียทั้งประเทศภายในปี 2567 และได้รับการรับรองเป็นเขตปลอดโรคมาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก(WHO)ภายในปี 2569 โดยไม่นับรวมการป่วยที่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องอาศัยงบประมาณปีละไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ระยะดำเนินงาน10ปี ต้องใช้งบประมาณ 5 พันล้าน ในขณะที่งบสนับสนุนที่ประเทศไทยได้รับจากกองทุนโลกปีละ300ล้านบาทจะสิ้นสุดลงในปีพ.ศ.2559นี้ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมีการระดมทุนจากหลายภาคส่วนคาดว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐร้อยละ70 และการระดมทุนจากภาคเอกชนร้อยละ30
นายแพทย์อำนวยกล่าวต่อว่าหลักสำคัญในยุทธศาสตร์เร่งรัดการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรีย ประกอบด้วย การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคให้ตอบโต้ได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ การเพิ่มศักยภาพและความครอบคลุมการบริการตรวจรักษาในทุกกลุ่มประชากร เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ เฝ้าระวังควบคุมยุงพาหะและส่งเสริมการป้องกันตนเองในกลุ่มเสี่ยงและสร้างระบบเร่งรัดกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยา ส่วนยุทธศาสตร์สนับสนุนได้แก่ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมมาตรการและรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเอง
"โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีมากบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียหรือตามป่าเขา ขอให้ระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ไม่ว่าการนอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง หรือมุ้งคลุมเปล การทายากันยุง เป็นต้น โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นายแพทย์อำนวย กล่าว