กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
"โฟโนไรทส์" หน่วยงานดูแลและคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทบันทึกเสียงทั้งของต่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการแพร่เสียงและแพร่ภาพสิ่งบันทึกเสียง, มิวสิควิดีโอ และคาราโอเกะวิดีโอ โดยได้รับอำนาจในการดูแลลิขสิทธิ์จากสมาชิกสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
นายนัดดา บุรณศิริ กรรมการบริหาร บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการดูแลเรื่อง "ลิขสิทธิ์" ให้แก่บริษัทบันทึกเสียงทั้งของต่างประเทศและภายในประเทศ รวมทั้ง "การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์" ในการเผยแพร่งานสิ่งบันทึกเสียง, มิวสิควิดีโอ และคาราโอเกะวิดีโอ และจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงไทย (TRIA)
"บริษัทฯ ดำเนินการให้อนุญาตแก่การนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนแก่สถานที่ใดก็ตามที่มีการนำสิ่งบันทึกเสียงและ/หรือภาพ ออกให้คนรับชมและรับฟัง แม้แต่ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ก็ถือได้ว่าสถานประกอบการหรือผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าว ต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (International Federation of the Phonographic Industry หรือ IFPI) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ที่นำสิ่งบันทึกเสียงและภาพออกเผยแพร่สู่สาธารณชน"
นายนัดดากล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโฟโนไรทส์มีสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทผู้บันทึกเสียงทั้งหมดกว่า 1,300 บริษัททั่วโลก ทั้งบริษัทที่ทำการระหว่างประเทศและทำการในประเทศ โดยบริษัทเหล่านี้มีชื่อที่ใช้ทางธุรกิจที่แตกต่างกันไปกว่า 11,000 รายนาม และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียงหลายแสนรายการทั่วโลก บริษัทสมาชิกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ บริษัทโซนี่มิวสิค, อีเอ็มไอ, บีเอ็มจี, วอร์นเนอร์ และยูนิเวอร์ซัลมิวสิค เป็นต้น
ทางด้าน นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า การเผยแพร่สิ่งบันทึกเสียงที่มีลิขสิทธิ์ในที่สาธารณะ ต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ มิฉะนั้นจะถือเป็นการผิดกฎหมาย ถือเป็น "การละเมิดลิขสิทธิ์" ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยโทษของการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีตั้งแต่การสั่งห้ามมิให้ใช้สิ่งบันทึกเสียง การจ่ายค่าชดเชย การจ่ายค่าปรับ ไปจนถึงจำคุก ดังนั้นสถานประกอบการหรือผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าว ต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
"บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด มีอำนาจในการอนุญาตให้ใช้สิทธิของบริษัทสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความสะดวกแก่ผู้ชำระค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องการเผยแพร่งานสิ่งบันทึกเสียงจากหลายบริษัทหรือหลายค่ายเพลง ผู้ชำระค่าลิขสิทธิ์สามารถขออนุญาตจากโฟโนไรทส์แห่งเดียวก็จะได้รับอนุญาตจากสมาชิกที่เป็นบริษัทค่ายเพลงทั่วโลกกว่า 11,000 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของค่ายเพลงสากลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก จึงไม่จำเป็นต้องขอรับสิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์แยกเป็นราย ๆ ไป" นายพิเศษกล่าว
ปัจจุบันบริษัทที่ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โฟโนไรทส์ ได้แก่ การบินไทย, แมคไทย, บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ล, เรดิโอ คอนเซ็ป, ยูแอนด์ไอ คอร์โปเรชั่น, โรงแรมโอเรียนเต็ล, เคเอฟซี, บรันสวิคสยาม ฯลฯ จำนวนของผู้ชำค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละกว่า 100% และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 90% ในปีหน้า
ธุรกิจที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อนจะนำสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ได้แก่ ร้านอาหาร, ห้องฝึกซ้อม/ฝึกสอนเต้นรำ, สถานแสดงสินค้า, ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ลานสเกต, ผับ/บาร์/เลาจน์, ไนต์คลับ, สถานออกกำลังกาย, สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง, โรงแรม, คอฟฟี่ช็อป, ห้างสรรพสินค้า, ดิสโก้เธค, โรงภาพยนตร์, งานแสดงแฟชั่น, ธุรกิจรถทัวร์/รถเช่า, ร้านค้าทั่วไปและธุรกิจอื่นใด รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่ทำสิ่งบันทึกเสียงไปเผยแพร่สาธารณชน
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศุภาดา ใจดี , เหมือนฝัน นิลคูหา
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 0-2693-7835-8 โทรสาร 0-2693-6919--จบ--
-อน-