กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--หอการค้าไทย
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2559) หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชนสิบองค์กรนำร่อง ร่วมกับหอการค้าไทยและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จับมือร่วมกันฝ่าวิกฤตภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 20 ปี โดยจัดแคมเปญรณรงค์ประหยัดน้ำภายใต้ชื่อ "แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง" ตั้งเป้าร่วมกันลดการใช้น้ำให้ได้ 30%เพื่อให้มีน้ำใช้พอเพียงในฤดูแล้ง สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำแล้ง พร้อมผลักดันให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาคส่วน ณ หอการค้าไทย
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า "สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(23 ก.พ. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน 59 ประมาณ 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,960,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,720,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต"
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "ผมประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 นี้จะอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งความต้องการใช้น้ำสูงกว่าที่มีอยู่ถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยว่า "กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปัจจุบันมีความพร้อมทุกด้านในการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งซ่อมเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ นักบินผ่านการฝึกบินทบทวนตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจัดหาสาร ฝนหลวง เฝ้าติดตามสภาพอากาศทุกวันเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ต้นปี ทำให้สามารถปฏิบัติการฝนหลวงโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็วในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ รวมทั้งสามารถเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 แห่งก่อนกำหนด ได้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ สำหรับหน่วยอื่นกำหนดเปิดหน่วยปฏิบัติตามแผน คือ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ทั่วประเทศ เป้าหมายการปฏิบัติการนั้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หอการค้าไทย และองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดทำโครงการ "แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง" ขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญคือสร้างความร่วมมือ ร่วมใจในการลดการใช้น้ำ และแบ่งปันการใช้น้ำในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันก้าวฝ่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวไปด้วยกัน
นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.(สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า "วิกฤตภัยแล้งครั้งนี้เป็นวิกฤตร่วมที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา ในฐานะที่ไทยพีบีเอสเป็นสื่อเพื่อสาธารณะ เราต้องสร้างให้ประชาชนตระหนักรู้ ป้องกันและร่วมกันหาทางออกในระยะยาว ไทยพีบีเอส จะทำการรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้น้ำลง 30% ภายใต้โครงการ "แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง" เพื่อให้มีน้ำใช้พอเพียงในฤดูแล้ง"
"พร้อมกันนี้ไทยพีบีเอสได้จัดตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์การใช้น้ำของประชาชนใน 76 จังหวัด และรวบรวมข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน โดยที่ไทยพีบีเอสจะปรับผังรายการเพื่อนำเสนอข่าวปัญหาภัยแล้งให้เห็นถึงสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขในทุกช่วงของการนำเสนอข่าว รวมทั้งจะมีรายการ "รู้ สู้ ภัยแล้ง" ซึ่งจะออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงเวลา 18.30-19.00 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป"
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เหตุผลสำคัญที่เราเข้าร่วมโครงการเพราะหอการค้าไทยเป็นศูนย์รวมของภาคธุรกิจทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เราจึงคาดหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการปลุกพลังของภาคธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมเพื่อลดการใช้น้ำอย่างประหยัดและการแบ่งปันทรัพยากรอันมีค่าร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมของหอการค้าไทยในการรณรงค์ คือการให้ภาคธุรกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลดการใช้น้ำประปา 30% โดยหอการค้าไทยได้สร้างต้นแบบ 10 ธุรกิจนำร่องของโครงการ ในส่วนภูมิภาค ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด ในการสร้างธุรกิจต้นแบบลดการใช้น้ำให้ครบทุกจังหวัด"
"ซึ่งเราก็มีความมุ่งหวังที่จะช่วยให้สังคมไทยฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน และการรณรงค์ลดการใช้น้ำจะเป็นการสร้างพลังในการปลูกจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างประหยัด มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด"
ทั้งนี้ 10 องค์กรภาคเอกชนนำร่อง อาสาเป็นองค์กรต้นแบบลดการใช้น้ำ 30%ที่เข้าร่วม ได้แก่
กลุ่มมิตรผล
SCG
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
Central Group
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
เครือเบทาโกร
บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
สมาคมโรงแรมไทย
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)
องค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ :
หอการค้าไทย
ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
องค์กรภาครัฐที่ร่วมโครงการ :
กรมชลประทาน
กรมฝนหลวงและการบินการเกษตร
การประปานครหลวง
การประปาส่วนภูมิภาค
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมการเกษตร
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานสื่อสารองค์กร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
0-2790-2395-7