กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 12 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดสำรวจ ตรวจสอบแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รวมถึง วางมาตรการป้องกันการปิดกั้นและลักลอบสูบน้ำ เน้นการสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำ และแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ ตลอดจนกำชับจังหวัดในพื้นที่บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มความเข้มข้นในการวางแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาในกระชัง ป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำท่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย โดยขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 12 จังหวัด 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 2.53 ของหมู่บ้านทั่วประเทศแยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย และนครสวรรค์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดสำรวจ ตรวจสอบแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติขาดแคลนน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ให้วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า สร้างความเข้าใจกับประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันการปิดกั้นและลักลอบสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะไปใช้ผิดประเภท จนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค กรณีมีปัญหาการแย่งน้ำ ให้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจ และกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกัน เพื่อให้การจัดสรรน้ำแก่ประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำและท้ายน้ำเท่าเทียมกัน รวมถึงใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการสนับสนุนภาชนะกักเก็บน้ำในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ พร้อมตรวจสอบซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี สำหรับพื้นที่ที่ต้อง เฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นพิเศษ ได้แก่ พื้นที่บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเป็นจำนวนมาก ให้เพิ่มความเข้มข้นในการกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ท้ายนี้ ขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรัง วางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมถึงประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th