ปภ.ขับเคลื่อนมาตรการจ้างงาน – สร้างรายได้แก่ประชาชนที่ประสบภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday February 25, 2016 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งเสริมการสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่เกิดภัย รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 12 จังหวัด รวม 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 2.53 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ พะเยา สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัดเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งมุ่งเน้นการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการป้องกัน ยับยั้ง หรือลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 28 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครปฐม นครราชสีมา นครสวรรค์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา แพร่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง และอำนาจเจริญ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 125,270,264 ล้านบาท ซึ่งใช้ในการดำเนินการจ้างแรงงาน จำนวน 165,749 คน เป่าล้างบ่อบาดาล จำนวน 3,675 แห่ง ฝึกอบรมอาชีพ จำนวน 12,502 ครัวเรือน และซ่อมแซมระบบประปา จำนวน 212 แห่ง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และชุมชนมีกลไกการจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ