กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มธ.
ผศ.กิตติ สิริพัลลภ ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในวงการไอที และกลุ่มสถาบันการเงิน เปิดศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นแก่กลุ่มธุรกิจ SME ที่ต้องการทำธุรกิจในยุคอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งศูนย์พาณิชย์ฯ นี้เปรียบเสมือนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ให้กลุ่มองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจดอตคอมมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ พร้อมให้คำแนะนำ-ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดกลาง-เล็ก(SME) ตลอดจนเป็นแหล่งพัฒนาคณาจารย์ นักศึกษา ให้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจดอตคอมถือเป็นช่วงลองผิดลองถูก บริษัทฯ หลายๆ รายจำเป็นต้องปิดตัวลง จะมีแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เป็นการนำศาสตร์ความรู้หลายๆ ด้านมารวมกัน เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจได้จริง ไม่ใช่แค่อยู่บนเว็บเพจเท่านั้น ต้องมี Business Model,Business Plane ที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องมีพันธมิตรทางการค้าอื่นๆ เช่น บริษัทที่ปรึกษา บริษัทเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้แนวคิดสามารถทำเป็นรูปธรรมในการเชิงธุรกิจได้จริง และประสบความสำเร็จ"
ผศ.กิตติ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของศูนย์ฯ นี้คือ การทำ Business Plane ที่ถูกต้อง แม่นยำให้กับลูกค้า พร้อมคำแนะนำ แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆจากพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ และสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้จริง ทำธุรกิจได้ทัดเทียมกับกับต่างชาติ สำหรับค่าใช้จ่าย ลูกค้าที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิก ทางศูนย์ฯ จะคิดค่าบริการเดือนละ 2,000 บาท ส่วนเป้าหมายในการเปิดร้านค้าสำหรับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ในปีแรกทางศูนย์ต้องการลูกค้าประมาณ 20 รายก่อนที่จะขยายสู่ 50 รายในปีต่อไป
ทางด้านเทิดศักดิ์ สกุลยงค์ Channel Director บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจดอตคอมที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องมี Business Model, Business Plane ที่ชัดเจนซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดอตคอมทั้งหลายคิดว่า การลอกเลียนแบบ Business Model ที่ประสบควาสำเร็จในประเทศสหรัฐฯ จะต้องประสบความสำเร็จในบ้านเรา แต่ไม่ใช่ เพราะในทฤษฎีเชิงลึก แต่ละหลักการจะแตกต่างตามสภาวะการบริหารงานในแต่ละประเทศ ความต้องการของลูกค้าก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นควรจะศึกษาถึงวิถีการดำเนินธุรกิจของคนท้องถิ่นเป็นหลัก
ด้านวิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานอีคอมเมิร์ซ-อีแบงก์กิ้ง ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ใช่แค่การเปิดเว็บแล้วสามารถทำธุรกรรมได้ ดอตคอมเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ ด้าน เช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ สถาบันการเงิน สื่อเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นแรงดูด ที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจดอตคอมเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งแบงก์เอเชียเข้าเป็นหนึ่งในพันธมิตร โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการนี้ด้วย
สำหรับพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เวโลคอล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท จัสมิน อินเทอร์เน็ต จำกัด, บริษัท พรวี่ลิงค์ จำกัด,ธนาคาร เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอฟเอ็น เอเชีย แอดไวเซอรี่ จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด--จบ--
-สส-