กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) /แท็บเล็ต (Tablet) และอินเตอร์เน็ต (Internet) ของประชาชน โดยผู้ตอบแบบสอบถามคือประชาชนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) /แท็บเล็ต (Tablet) และอินเตอร์เน็ต (Internet) ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,122 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 22 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของการใช้โทรศัพท์มือถือ (Smartphone) แท็บเล็ต (Tablet) และอินเตอร์เน็ต (Internet) ของคนในสังคมนั้นเป็นพฤติกรรมที่สามารถมองเห็นได้โดยทั่วไป ทำให้เห็นว่าการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation) และการยอมรับนวัตกรรม (Adoption of Innovation) ของคนในสังคมโดยเฉพาะในส่วนของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนในสังคมในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย คนทำงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ได้มีการเรียนรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ การใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) โปรแกรมสนทนา (Chat) และการสั่งซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนสภาพของสังคม โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) แท็บเล็ต (Tablet) และอินเตอร์เน็ต (Internet) ของประชาชน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ (Smartphone) ร้อยละ 71.1 ใช้งานอินเตอร์เน็ต 3 – 4 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 17.6 และมีค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต 400 - 600 บาทต่อเดือน ร้อยละ 25.5
การใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) Facebook มาเป็นอันดับแรก ร้อยละ 74.9 อันดับสองคือ Instagram ร้อยละ 10.4 และอันดับสามคือ Twitter ร้อยละ 7.0
ในส่วนของการใช้งานโปรแกรมสนทนา (Chat) อันดับแรกคือ Line ร้อยละ 59.1 อันดับสองคือ Messenger ร้อยละ 21.7 และอันดับสามคือ WhatsApp ร้อยละ 7.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เชื่อข้อมูลข่าวสารได้รับผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 45.0 รองลงมาคือ ไม่เชื่อ ร้อยละ 40.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.7
ในส่วนของการเคยไปพบกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 42.7 และ เคยพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 58.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยสั่งซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 55.6 มีความมั่นใจในการซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 37.1 และเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้า บริการผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 29.8