กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ASEAN+3 ภายใต้หัวข้อ "สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ" (Age - Friendly Environment) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ –๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยมีผู้แทนจากประเทศ ASEAN+3 และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ส่วนราชการภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นายไมตรี กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ได้ให้ความสำคัญต่อหัวข้อการจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีความสามารถในการควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ
ในการทนต่อความเปลี่ยนแปลง ความกดดัน ความเครียด รวมถึงการโยกย้ายจากที่อยู่อาศัยในการดำรงชีวิต ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบทั้งทางร่างกาย สังคม และจิตใจ โดยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ๓ ด้าน ได้แก่ สภาวะแวดล้อมทางบุคคล ทางสังคม และทางกายภาพ ตามความร่วมมือตามพันธกรณีของKuala Lumpur Declaration on Ageing: Empowering Older Persons in ASEAN ที่ประเทศสมาชิกเล็งเห็นถึงการส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงกำหนดจัดการประชุมวิชาการ ASEAN+3 ภายใต้หัวข้อ "สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ" (Age - Friendly Environment) ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดี ด้านความริเริ่มและการปฏิบัติ โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาและการปฏิบัติการ รายงานความก้าวหน้าทางวิชาการของแต่ละประเทศสมาชิกฯ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายและแนวทางความร่วมมือของประเทศสมาชิกฯ
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนบวกสาม ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ
ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เพิ่มคุณภาพของการดูแลผู้สูงอายุ การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุได้มากขึ้น ทั้งในด้านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลและเพื่อผู้สูงอายุ (Universal Design and Older Peoples) การจัดสภาพแวดล้อมในระดับชุมชนและเมืองที่มีความปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ (Age-Friendly Cities and Communities) การจัดบริการสาธารณะต่างๆ การจัดสถานที่เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ มีบริการที่จำเป็น (Aged Care Facilities and Institute Care) และภูมิปัญญาด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Local Aged Caring Environment) ที่เป็นนวัตกรรมด้วยความคิดริเริ่มของชาวบ้านโดยใช้ภูมิปัญญาในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านสภาวะแวดล้อมทางบุคคล (Individual Environment) ทางสังคม (Social Environment) และทางกายภาพ (Physical Environment)
นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างท้าทายและต้องการการสนับสนุนอย่างมากในด้านสภาพแวดล้อมและการขนส่งสำหรับผู้สูงอายุ และประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนบวกสาม ได้ตระหนักในเรื่องผู้สูงอายุและได้เพิ่มนโยบายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในสังคมให้มากขึ้น โดยมีการจัดตั้งนโยบายและสวัสดิการสำหรับดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสถานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การฝึกฝนในด้านนโยบาย และการฝึกฝนด้านผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถนำใช้ เป็นแนวทางสำหรับความร่วมมือและการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือในด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรของผู้สูงอายุของอาเซียนในอนาคตต่อไป